พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday December 19, 2018 15:29 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 19 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 151/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง

สำหรับในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. ภาคเหนือจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีฝนบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง สำหรับในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. ลมตะวันตกในระดับบนจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจาก นั้นอุณหภูมิจะลดลง

คำเตือน ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวอุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด28-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้าเหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือปลูกพืชในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทน้อยเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบการระบาดของโรคพืช ควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ
  • ส่วนเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรมาแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับสภาพอากาศแห้งและแสงแดดจัดในตอนกลางวันทำให้น้ำระเหยออกจากบริเวณผิวดิน เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
  • ส่วนเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรมาแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้อากาศแห้งและมีแสงแดดจัด ทำให้อัตราการระเหยของน้ำจากดินมีมากขึ้น เกษตรกรจึงควรให้น้ำแก่พืชที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และควรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมโคนต้นพืช เพื่อรักษาความชื้นในดิน
  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่นเพลี้ยและไรต่างๆในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำ เลี้ยงจากพืชทำ ให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในระยะนี้ ปริมาณน้ำระเหยมีมากประกอบกับปริมาณฝนมีน้อยทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืช ที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นในดินและรักษาอุณหภูมิดิน
  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต การผลิดอกออกผลลดลง และผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 20-25 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับทางตอนบนของภาคจะมีปริมาณฝนน้อยกับมีน้ำระเหยมาก เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง รวมทั้งนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมโคนต้นพืช เพื่อรักษาความชื้นในดิน
  • สำหรับทางตอนกลางและตอนล่างของภาคซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ รวมทั้งควรรีบพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม
  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 19-25 ธ.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (ช่วงวันที่ 1-19 ธ.ค.) ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 100-400 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางฝั่งตะวันออกของภาคบริเวณตอนกลางและตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 400-800 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 12–18 ธ.ค.) ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 25-400 มม. โดยทางฝั่งตะวันออกของภาคบริเวณตอนกลางและตอนล่างของภาคมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด200-400 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกตอนบนที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 30-35 มม.

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-40) มม. เว้นแต่ในภาคใต้ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 10-400 มม. โดยทางฝั่งตะวันออกของภาคมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวกสูงสุด คือ 100-400 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น โดยในเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา นอกจากนี้ควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติมโต สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดทำระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ