พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 24 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Monday December 24, 2018 15:52 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 24 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 153/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 ธ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางจะมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนที่ตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันห่างฝั่งจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ หลังจากนั้น จะมีอุณหภูมิลดลง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
  • สำหรับในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในบรรยากาศได้แต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-26 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นถึงหนาวและมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานในที่โล่งแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียมและป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยง ควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลามจนกลายเป็นอัคคีภัย
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ
  • เนื่องจากน้ำระเหยมีมากในระยะนี้ เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษา อุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้าอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณ หภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซี ยส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกมีน้อยและปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-27 ธ.ค. มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้าอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากฤดูหนาวและฤดูร้อนต่อไป ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำ ที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้งและมีลมแรงในระยะนี้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูกและหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก
  • ส่วนเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 24-28 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 24-28 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 ธ.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ลมตะวันออกความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับทางตอนบนของภาค สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดเช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม
  • ส่วนทางตอนกลางและตอนล่างของภาคสภาพอากาศชื้นเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา และโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง
  • ระยะนี้ทางฝั่งตะวันตกปริมาณและการกระจายของฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 24-30 ธ.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (ช่วงวันที่ 1-23 ธ.ค.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. สำหรับภาคใต้ที่มีปริมาณฝนสะสม 50-800 มม. โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-800 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 17-23 ธ.ค.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 10-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคตะวันออก มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-10) - (-30) มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-100 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณตอนกลางของภาคที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) - (-10) มม.

คำแนะนำ สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้าโดยเฉพาะในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้ อนึ่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้จะมีฝนกับฝนตกหนัก บางแห่ง โดยเฉพาะในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราใน พืชสวน และพืชผักชนิดต่างๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ