พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 – 6 มกราคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday December 31, 2018 14:18 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 – 6 มกราคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 156/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 – 2 ม.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอุณหภูมิจะลดลง2-4 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 6 ม.ค. 62 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 2 ม.ค. 62 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 6 ม.ค. 62 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ลงทะเลอันดามันในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. 62 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 6 ม.ค. 62 ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง สำหรับเกษตรกรบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และคลื่นลมแรงพัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 – 5 ม.ค. 62

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค.- 3 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 9-17องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-10 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน โดยมีอากาศหนาวเย็นกับมีฝนตก เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • อากาศที่หนาวเย็นอย่างต่อเนื่องทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารที่ให้ เพื่อป้องกันอาหารเหลือ จะทำให้น้ำเน่าเสีย รวมทั้งควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำและปรับอุณหภูมิน้ำในบ่อเลี้ยง
  • ในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค.- 3 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 9-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด3-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะสูงขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 3 ม.ค. 62 จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียสเกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเพิ่มดวงไฟให้ความอบอุ่นในโรงเรือน รวมทั้งทำแผงกำบังลมหนาว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคไดง่าย
  • ในช่วงวันที่ 3- 6 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 3 ม.ค. 62 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 62 อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 3 ม.ค. 62 จะมีอากาศเย็นกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • ในช่วงวันที่ 4 - 6 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 3 ม.ค. 62 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียสส่วนในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 62 อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 3 ม.ค. 62 จะมีอากาศเย็นกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

  • เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนซึ่งอยู่ในระยะดอกบานและติดผลควรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะลำต้นทุเรียน เป็นต้น
  • ในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจทำให้เปียกชื้นเสียหายได้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 2 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ม.ค.62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 2 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3-6 ม.ค.62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 3-6 ม.ค.เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกัน ความเสียหายจากสภาวะน้ำ ท่วมฉับพลันและน้ำ ป่าไหลหลาก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
  • ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟซึ่งอยู่ในระยะเก็บผลผลิตควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคและศัตรูพืช เช่น โรคผลเน่าและมอดเจาะผลกาแฟ เป็นต้น
  • ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 61 - 5 ม.ค. 62 บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง2-3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 - 6 ม.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (ช่วงวันที่ 1-30 ธ.ค.) ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคกลางตอนล่างและด้านตะวันออก มีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 100-800 มม.เป็นส่วนใหญ่ โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออก บริเวณตอนกลางและตอนล่างของภาคมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 400-800 มม. เว้นแต่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีปริมาณฝน 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 24-30 ธ.ค.) ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคกลางตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม. ส่วนภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม ต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางตอนล่างของภาค มีปริมาณฝนสะสม 50-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำ เป็นลบ คือ (-1) - (-30) มม. เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคกลางและในบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ตอนล่างที่มีค่าสมดุลน้ำ เป็นบวก คือ 1-150 มม.

คำแนะนำ ช่วง 7 วันที่ผ่าน บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรดูแลสุภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สำหรับภาคใต้จะมีฝนกับฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราใน พืชสวน และพืชผักชนิดต่างๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ