พยากรณ์อากาศเกษตรเพื่อไม้ผล 7 - 13 มกราคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday January 7, 2019 13:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเกษตรเพื่อไม้ผล

ระหว่างวันที่ 7 - 13 มกราคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1/2562

สภาวะอากาศ

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 7-9 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 10-11 ม.ค. 62 อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ มีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 15-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าตลอดช่วง และมีฝนเล็กน้อยในช่วงวันที่ 8-9 ม.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลาง อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าตลอดช่วง และมีฝนเล็กน้อยในช่วงวันที่ 8-10 ม.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 8-10 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนล่างในช่วงวันที่ 7-9 ม.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 7-13 ม.ค. 62 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศแปรปรวน เกษตรกรควร รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับในช่วงวันที่ 7-9 ม.ค. 62 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะดังกล่าว

สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อไม้ผล

สัปดาห์นี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็น โดยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ เกษตรกรควร ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ระยะนี้ปริมาณ และการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง สำหรับสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกัน การเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร สำหรับในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เนื่องจากควันไฟ จะไม่สามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้แต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียงแทนทำให้ทัศนวิสัยลดลง เป็นอุปสรรค ต่อการใช้รถใช้ถนนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำหรับภาคใต้เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก พื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และในช่วงที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรของควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และติดตามข่าว จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

สำหรับเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล บริเวณประเทศไทยตอนบน ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย และปริมาณการระเหยของน้ำมีมากทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้งเพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน แต่ไม่ควรคลุมจนชิด กับโคนต้นพืชมากเกินไป เพราะอาจทำให้โรคและศัตรูพืชลุกลามจากวัสดุคลุมดินเข้ามาสู่ต้นพืชได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆในไม้ผล ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนไม้ผล ที่เตรียมออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลำไยและลิ้นจี่ เป็นต้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน และหลีกเลี่ยงการให้น้ำ เพื่อให้ต้นเตรียมแตกตาดอก เมื่ออุณหภูมิต่ำสุดลดลงและยาวนานเพียงพอ

ส่วนภาคใต้ สวนผลไม้ที่มีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ รวมทั้งควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม หากพบต้นไม้ที่ล้มเอนควรผูกยึดและค้ำยันให้ตั้งตรง ถ้ามีบาดแผลควรตัดแต่งและทำความสะอาด แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผล โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นสะสมภายในแปลงปลูก ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการนำเครื่องจักรกลขนาดหนักเข้าไปในพื้นที่การเกษตร เพราะอาจติดหล่มได้เนื่องจากดินยังคงอ่อนตัว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 02-3669336


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ