พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 27 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Wednesday February 27, 2019 14:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 25/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 5 มี.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่งของภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. – 5 มี.ค. 62 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ สำหรับอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีลมตะวันออกพัดปกคลุมตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 5 มี.ค. 62 ตอนบนของภาคมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมากตอนล่างของภาค ลมตะวันตกความเร็ว 10-15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 16-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อุณหภูมิในตอนกลางวันและกลางคืนจะแตกต่างกันมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น มวนลำไยและไรสี่ขา เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 5 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในระยะนี้จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 4-5 มี.ค. เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง
  • เนื่องจากสภาวะอากาศร้อนในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 5 มี.ค. 62 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิ สูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในระยะนี้จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรเลือกพืชที่ต้องการน้ำค่อนข้างน้อย และมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นเช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20ของพื้นที่ตลอดช่วง ส่วนมากบริเวณชายฝั่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนกินขั้วผล และหนอนเจาะลำต้นทุเรียน เป็นต้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ในช่วงที่มีฝนตกน้อยและไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
  • เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟและหนอนเจาะลำต้นทุเรียนเป็นต้น
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 27 ก.พ. – 5 มี.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนมกราคม (ช่วงวันที่ 1-26 ก.พ.) บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.โดยบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกตอนบนด้านตะวันตกมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนบนที่มีปริมาณสะสม 25-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-35 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคกลางตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 35-40 มม.

สมดุลน้ำ ประเทศไทยมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ (-20) - (-40) มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนบนด้านตะวันตกที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก คือ 1-40 มม.

คำแนะนำ ช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีฝนและฝนตกหนักบางพื้นที่ส่วนมากบริเวณภาคตะวันออก สำหรับในช่วง 7วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ แต่ปริมาณมีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติมโต

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ