พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 8 - 14 เมษายน พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday April 8, 2019 14:15 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 8 - 14 เมษายน พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 42/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 8 - 13 เม.ย. 62 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ หลังจากนั้น ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ส่วนประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ลักษณะสำคัญทาง ในช่วงวันที่ 8 - 13 เม.ย. 62 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ และมีฝนฟ้าคะนอง หลังจากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

คำเตือน ในระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่ายกายขาดน้ำ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่ายกายขาดน้ำ
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยฉีดน้ำเป็นละอองฝอยบริเวณโรงเรือนหรือฉีดน้ำบริเวณหลังคา รวมทั้งจัดหาน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ
  • ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นในดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8 - 13 เม.ย. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส หลังจากนั้น มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่ายกายขาดน้ำ
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรดูแลปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง หากน้ำมีปริมาณน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8 - 13 เม.ย. 62 มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่าง ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยฉีดน้ำบริเวณหลังคาโรงเรือน หรือนำวัสดุที่อุ้มน้ำมาชุบน้ำแล้วนำไปวางไว้ในบริเวณโรงเรือน และควรเพิ่มปริมาณน้ำกินให้แก่สัตว์เลี้ยง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8 - 13 เม.ย.62 มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นมีอากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • จากสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • เกษตรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่เพาะปลูก และอาคารบ้านเรือน โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะชาวสวนยางพารา ควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟภายในบริเวณสวน หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟ ควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลามจนกลายเป็นอัคคีภัย
  • ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นในดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • จากสภาวะที่มีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • แม้ในช่วงนี้จะมีฝนตก แต่ปริมาณมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูก และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำ และเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ