พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday July 29, 2019 15:31 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 90/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น อนึ่ง ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่า จะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณเกาะไหหลำ อ่าวตังเกี๋ย และประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. จะมีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพืชที่ขาดน้ำในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ หนอนเจาะลำต้น และหนอนเจาะฝัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. จะมีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพืชที่ขาดน้ำในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังควรดูแลปริมาณปลาในกระชังให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปลาอยู่อย่างแออัดจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 – 30 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีการกระจายของฝนเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำสำรองควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • เกษตรกรที่ปลูกอ้อย ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกออ้อย และจักจั่น เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินทำลายลำต้นและใบ ทำให้ต้นอ้อยได้รับความเสียหาย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ40-70 ของพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 2 ส.ค.62 มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. จะมีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มมากขึ้น ชาวสวนไม้ผลที่อยู่ในที่ลุ่มควรดูแลระบบระบายน้ำในสวนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกเมื่อมีฝนหนัก รวมทั้งระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะรากเน่าโคนเน่า
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยงโดยเฉพาะหลังจากที่มีฝนตกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของน้ำและสภาพน้ำเปลี่ยน อาจจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทันดังนั้นเกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 29 - 31 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียสในช่วงวันที่ 1 - 4 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยโดยเฉพาะทางตอนบนและตอนกลางของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชเกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต
  • ในช่วงที่มีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนเจาะลำต้น หนอนเจาะผลในทุเรียน หนอนหัวดำและหนอนปลอกเล็กในปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
  • เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากสัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
รายงานลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2562 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยตลอดสัปดาห์ โดยมีกำลังปานกลางในวันแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนภาคใต้มีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดตากในวันที่ 24 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 23, 24 และ 25 ก.ค. มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24 และ 25 ก.ค. มีฝนร้อยละ 75-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 24, 25 และ 26 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในระยะกลางสัปดาห์มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 25 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24 ก.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 23, 24, 26 และ 27 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครพนม และจันทบุรี สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ลพบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ตราด สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง และตรัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ