พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Monday February 17, 2020 15:49 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 21/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิ จะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตลอดช่วง

คำเตือน บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรควรเพิ่ม ความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 17-19 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 1-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิระว่างกลางวันและกลางคืนจะแตกต่างกันมาก เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย สำหรับบางพื้นที่จะมีหมอกและน้ำค้างในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราน้ำค้างในพืชไร่ และพืชผักไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศเย็นถึงหนาว ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 17-19 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 12-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ในช่วงวันที่ 17-19 ก.พ.อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส และมีลมแรงเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งในตอนกลางคืน เพราะจะทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงป่วยได้ เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศเย็นในตอนเช้า ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 17-19 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้มีลมแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง เนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศเย็นในตอนเช้า ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 17-19 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้มีลมแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้ม นอกจากนี้เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง และคลุมโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคสภาพอากาศแห้ง เหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ เกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด ส่วนทางตอนล่างฝนตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะกัดกิน ส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ อนึ่ง ระยะนี้ บริเวณอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเล อันดามันห่างฝั่งจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 10 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อน เกือบตลอดสัปดาห์ โดยในวันสุดท้ายของสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลางและภาคตะวันออกในช่วงกลางสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาว ในบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้มีลมตะวันออกที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ทำให้มีฝนตกหนาแน่นในช่วงดังกล่าว 2

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอย มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค เว้นแต่ในช่วงวันที่ 12-14 ก.พ. มีอากาศเย็นในหลายพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ในระยะกลางสัปดาห์ ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ และมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะ ปลายสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ในวันที่ 11-12 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี และยะลา โดยวัดปริมาณฝนมากที่สุดได้ 169.8 มม. ที่ อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 63

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ