พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 13 - 19 มีนาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2020 15:28 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 13 - 19 มีนาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 32/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในวันที่ 13 อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 14-19 มี.ค.63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมทั้งอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 14-19 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14-16 มี.ค.63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 17-19 มี.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงวันที่ 14-18 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ไม่ควรตากกลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ ส่วนในตอนกลางวันอากาศร้อนและมีแดดจัด ทำให้การระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกหรือโคนต้นพืช เพื่อชะลอการระเหยของน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14-15 มี.ค.63 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 16-19 มี.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ทำให้ปริมาณการระเหยของน้ำบริเวณผิวมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่และไม้ผลไว้ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14-15 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13-14 มี.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 15-19 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่และไม้ผล อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14-17 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 13 มี.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-19 มี.ค.63 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงวันที่ 14-17 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรสำรวจและดูแลการผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งไม้ผลฉีกหัก และต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลไว้ด้วย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในวันที่ 13 และ 18-19 มี.ค.63 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 14-17 มี.ค.63 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในวันที่ 13 และ 18-19 มี.ค.63 ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากว่า 1 เมตร

ในช่วงวันที่ 14-17 มี.ค.63 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและไม้ผล ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตเสียหายได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งไว้ด้วย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 6-12 มีนาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะต้นช่วง กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีรายงานฝนและฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ จากนั้นในระยะครึ่งหลังของช่วงมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของช่วง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนเกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะกลางและปลายช่วง โดยมีฝนร้อยละ 5 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นจนมีอากาศร้อนทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ในวันแรกของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นในวันที่ 7 และ 8 มี.ค. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในระยะกลางและปลายช่วง โดยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบางแห่งในระยะต้นช่วง ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทั่วไปทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันที่ 9 และ 11 มี.ค. โดยมีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ในวันแรกของช่วง กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ในระยะปลายช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 7 มี.ค.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ