พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16 - 22 มีนาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday March 16, 2020 14:15 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 16-22 มีนาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 33/63

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

คำเตือน ในวันที่ 16 มี.ค. บริเวณภาคเหนือจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย นอกจากนี้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบน ควรดูแลสุขภาพเนื่องสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่ต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ ควรหลีกเลี่ยงการเผาตอซังข้าว ซังข้าวโพด และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะอาจลุกลามทำให้เกิดอัคคีภัยได้ นอกจากนี้ควันไฟจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งจะเป็นอุปสรรค์ต่อการใช้รถใช้ถนน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-18 มี.ค. 63 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ทำให้ปริมาณการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่และไม้ผลไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมทั้งจัดหาน้ำให้แก่สัตว์อย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียดและเจ็บป่วย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-19 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ และไม้ผล สำหรับเกษตรกรที่ต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ ควรหลีกเลี่ยงวิธีการเผาตอซังข้าว ซังข้าวโพด และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะอาจลุกลามทำให้เกิดอัคคีภัยได้ นอกจากนี้ควันไฟจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งจะเป็นอุปสรรค์ต่อการใช้รถใช้ถนน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-18 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ทำให้ปริมาณการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ในพืชไร่และไม้ผลไว้ด้วย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง

ในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. 63 ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-22 มี.ค. 63 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วงในช่วงวันที่ 16-17 มี.ค. 63 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-22 มี.ค. 63 ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • มีฝนน้อย และไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม รวมทั้งควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ชนิดต่างๆ ในพืชสวนและไม้ผล ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม และผลผลิตเสียหายได้
ลักษณะอากาศในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 9-15 มีนาคม 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดสัปดาห์ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในช่วงปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงในวันสุดท้ายของสัปดาห์ กับมีรายงานฝนและฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ สำหรับภาคใต้มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ตลอดสัปดาห์จากอิทธิพลของลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่อุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันที่ 12 มี.ค. จากนั้นในระยะปลายสัปดาห์มีฝนร้อยละ 15-25 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธรในวันที่ 14 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่อุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 30-75 ของพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทั่วไปทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีฝนร้อยละ 5-60 ของพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะปลายสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครนายกในวันที่ 14 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดลพบุรีและอ่างทอง สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ