พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2020 15:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 60/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ พายุไซโคลน "อำพัน" บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 20-21 พ.ค. 63 ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรง ในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 พ.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 ภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 19 - 22 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18, 23 - 24 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้ แต่ไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เกิดความชื้นสะสมในแปลงปลูก เป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มั่นคงแข็งแรง หลังคาอย่าให้รั่วซึม และแผงกำบังฝนสาดให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝนจนหนาวเย็น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 19, 23 - 24 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 22 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา และควรหันหัวแปลงปลูกไปตามทิศทางลม เพื่อให้อากาศถ่ายเท ได้สะดวก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 18 - 22 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 24 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืช เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพืชจากเชื้อราได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับเสริมขอบบ่อ และอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในการเกษตรอย่าให้ชำรุดเสียหายจนเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 19 - 21 พ.ค. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่น 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 22 - 24 พ.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกจะเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อไม่ให้น้ำขังในแปลงปลูกป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้เปลือกผลไม้ และผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่สภาพอากาศชื้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 19 - 21 พ.ค. 63 ในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 24 พ.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในวันที่ 18 - 22 พ.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 24 พ.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับจะมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกพืชป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนทางฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกและหยุดตกสลับกัน สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชดังกล่าว อนึ่ง ในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 11 - 17 พฤษภาคม 2563 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดสัปดาห์ โดยในระยะต้นสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์ และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีฝนและฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ส่วนมากในวันแรกของสัปดาห์ สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดสัปดาห์ โดยในวันสุดท้ายของสัปดาห์เริ่มมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคใต้ ส่งผลให้มีฝนตกหนาแน่นบริเวณภาคใต้ตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 11 และ 13 พ.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดน่าน ลำพูน พะเยา และกำแพงเพชรในวันที่ 11 พ.ค. บริเวณจังหวัดแพร่และพิษณุโลกในวันที่ 14 พ.ค. บริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 15 พ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะกลางและปลายสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 65-75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ อำนาจเจริญและยโสธรในวันที่ 11 พ.ค. บริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 11 และ 14 พ.ค. บริเวณจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และสุรินทร์ในวันที่ 14 พ.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันที่ 13-16 พ.ค.โดยมีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 11 และ 14 พ.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 11 พ.ค. บริเวณจังหวัดสิงห์บุรีและชัยนาทในวันที่ 14 พ.ค. บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 16 พ.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทั่วไปทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 11 พ.ค. บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 11 และ 14 พ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 20-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 15 พ.ค. มีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดอุดรธานี และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย ลำปาง น่าน สุโขทัย เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ