พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 9 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Friday October 9, 2020 13:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 9 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 122/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนบนจะเคลื่อนที่ลงสู่ทะเลอันดามันต่อไป ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร หลังจากนั้นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้คลื่นลมมีกำลังอ่อนลง ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 ตุลาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมในระยะนี้

คำเตือน ในช่วงวันที่ 9-12 ตุลาคม บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร สำหรับในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-4 เรือเล็กงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10-15 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงนี้จะฝนและอุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขังเกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-29 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12-15 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ทางตะวันออกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงนี้จะฝนและอุณหภูมิลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ เพื่อป้องกันโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในช่วงวันที่ 9-10 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10-11 และ วันที่ 14-15 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 9-10 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11-15 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร รวมทั้งทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตร

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 10-12 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วง วันที่ 13-15 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 10-13 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 14 - 15 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 2-8 ตุลาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศกัมพูชาในวันแรกของช่วง จากนั้นได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง อ่าวไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกในระยะครึ่งหลังของช่วง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในระยะต้นและกลางช่วง จากนั้นมีกำลังแรงโดยพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย อนึ่ง พายุดีเปรสชันที่ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 6 ต.ค. ได้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกแล้วขึ้นฝั่งบริเวณเมืองนาตรัง ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 7 ต.ค. จากนั้นอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อนเคลื่อนตัวผ่านประเทศกัมพูชา และเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณอ่าวไทยตอนบนในวันสุดท้ายของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นตลอดช่วง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ในระยะครึ่งหลังของช่วง กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่

ภาคเหนือมีฝนร้อยละ 25-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3-4 ต.ค. มีฝนร้อยละ 65-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 4 ต.ค. และบริเวณจังหวัดน่านและอุตรดิตถ์ในวันที่ 5 ต.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาคกับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 2, 4 และ 8 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 3 ต.ค. และบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 3 และ 8 ต.ค. ภาคกลางมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 4 และ 5 ต.ค. มีฝนร้อยละ 55-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 2, 4 และ 8 ต.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาทในวันที่ 6 และ 7 ต.ค. ภาคตะวันออกมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 4 และ 7 ต.ค. มีฝนร้อยละ 60-75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่ง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันแรกของช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชลบุรีและสระแก้วในวันที่ 3 ต.ค. และบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 4 ต.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมขังบริเวณจังหวัดนครนายกในวันที่ 5 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3-4 ต.ค. มีฝนร้อยละ 45-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 2, 5 และ 6 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและปลายช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 7 ต.ค.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเลย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส และระนอง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กาญจนบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี ยะลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ