พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday July 23, 2021 15:22 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 88/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับพายุดีเปรสชัน "เจิมปากา" ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร คำเตือน ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอเกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผลและพืชผัก นอกจากนี้ ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นภายในสวนเพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ควรเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในวันที่ 18-19 ก.ค. จากนั้นได้เลื่อนมาพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของ

ภาคเหนือ และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดช่วง ส่วนภาคใต้มีฝนส่วนมากทางตอนบนของภาคอนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีความรุนแรงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ค. และทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "เจิมปากา (CEMPAKA (2107))" ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน จากนั้นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ค. และได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในช่วงค่ำของวันเดียวกัน พายุลูกนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนในช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค. บริเวณเมืองเหมาหมิ้ง มณฑลกวางตุ้ง

ประเทศจีน และอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีนในวันสุดท้ายของช่วง

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 19 ก.ค. และจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 20 ก.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 22 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 16, 17 และ 19 ก.ค. มีฝนร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 18 และ 22 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 17, 20 และ 22 ก.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 19 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 16, 18 และ 20 ก.ค. และมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 17 ก.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตราดในวันที่ 19 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-45 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 20 ก.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 21 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 20 และ 22 ก.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 20 ก.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 21 ก.ค.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครพนม ยโสธร จันทบุรี ชุมพร และระนอง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร นครราชสีมา อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และพังงา

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ