พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 13 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday August 13, 2021 15:12 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 13 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 98/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 14 - 16 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดเข้าปกคลุมภาคใต้และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 14 - 16 ส.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่ ส่วนบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14 - 16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และ มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ดอกและพืชสวน เช่น โรคใบจุดสีดำในกุหลาบ ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบเป็นจุดสีดำและหลุดร่วง ต้นชะงักการเจริญเติบโต เกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบต้นที่เป็นโรคดังกล่าวควรตัดแต่งกลิ่งให้โปร่งและนำใบที่เป็นโรคไปกำจัดนอกแปลงปลูก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบฝอยหรือให้น้ำในช่วงเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้ใบเปียกชื้นและเป็นการลดความชื้นสะสมบริเวณใบ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13 - 16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกชุก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเน่าเปียกหรือโรคราขนแมวในพริก ซึ่งเกิดจากเชื้อราบริเวณยอดอ่อนและกิ่งอ่อน ทำให้กิ่งแห้งหักพับ หากรุนแรงใบและดอกจะร่วงจนเหลือแต่ก้าน และพริกจะไม่แตกยอดใหม่ ถ้าอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นส่วนของเชื้อราที่มีลักษณะเป็นก้านใสคล้ายขนแมว สำหรับในช่วงวันที่ 17-19 จะมีฝนลดลง เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14 - 16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนชื้นประกอบกับฝนที่ตกในช่วงนี้ สำหรับดาวเรืองที่อยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคดอกเน่าที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งทำให้กลีบดอกมีสีน้ำตาลเริ่มจากปลายกลีบไปหาโคนดอก ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะดอกตูม จะทำให้ดอกไม่บาน หากโรคดังกล่าวลุกลามมาสู่ต้น จะทำให้ต้นตาย สำหรับในช่วงวันที่ 17-19 จะมีฝนลดลง เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนม้วนใบในถั่วเหลืองในระยะปลูกใหม่ ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากัน แล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด แล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นและกระจายไปทั่วทั้งแปลง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13 - 16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 13 - 16 ส.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 13 - 16 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 6 - 12 สิงหาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดช่วง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตลอดช่วง โดยมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของช่วง ส่วนภาคใต้มีฝนตลอดช่วงโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค อนึ่ง พายุโซนร้อน "ลูปิต (LUPIT (2109))" ได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ ผ่านเกาะไต้หวันในวันที่ 7 ส.ค. แล้วเคลื่อนห่างออกไปเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 8 ส.ค. จากนั้นได้อ่อนกำลังลงตามลำดับจนเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศญี่ปุ่นในช่วงเช้าของวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 8 ส.ค.มีฝนร้อยละ 20 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 10-11 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในวันที่ 11 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ ในระยะครึ่งแรกของช่วง ต่อจากนั้นมีฝนร้อยละ 35-75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคกลางมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 6 และ 11 ส.ค. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 6 ส.ค. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 7 ส.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 35-80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในระยะกลางช่วงมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 11 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 7 ส.ค. มีฝนร้อยละ 20 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 8 ส.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 10 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6 และ 11 ส.ค.

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย อุดรธานี จันทบุรี นราธิวาส ระนอง และพังงา ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เลย นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครนายก ชลบุรี ระยอง ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ