พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 13 - 19 กันยายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday September 13, 2021 16:01 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 13 - 19 กันยายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 111/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 13 - 16 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ก.ย. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร สำหรับในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.ย. 64 บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 64 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 13 - 16 ก.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 14 ก.ย. นี้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 17 - 19 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังโรคที่มากับน้ำ เช่น โรคน้ำ กัดเท้า โรคตาแดง และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13 - 15 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 19 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรค เลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ในข้าวนาปี โรคแอนแทรกโนสในพริก และโรคเน่าในอ้อย เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์ตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโตและศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนานทำให้รากพืชเน่าและตายได้ รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้ด้วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ นอกจากนี้ควรเสริมขอบบ่อให้สูงขึ้นและจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อรวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรเฝ้าระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืชเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบติดในทุเรียน โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคผลเน่าในสละ เป็นต้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 13 - 16 ก.ย. 64 ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.ย. 64 ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % - ระยะนี้เป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศชื้นมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 14 ก.ย. นี้

ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 6 - 12 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันที่ 7-8 ก.ย.โดยร่องมรสุมดังกล่าวได้เลื่อนกลับขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยพาดเข้าสู่พายุโซนร้อน "โกนเซิน (CONSON (2113))" ที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน พายุลูกนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงในช่วงค่ำในวันที่ 9 ก.ย. โดยเคลื่อนตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางในช่วงเช้าของวันที่ 10 ก.ย. และอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงค่ำของวันที่ 11 ก.ย. จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามในช่วงเช้ามืดของวันที่ 12 ก.ย. โดยพายุนี้ได้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้า ๆ และปกคลุมชายฝั่งของประเทศเวียดนามในเวลาต่อมา โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงเกือบตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 7 และ 9 ก.ย. จังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 8, 10 และ 12 ก.ย. จังหวัดแพร่ ลำพูน และลำปางในวันที่ 9 ก.ย. จังหวัดตากและเพชรบูรณ์ในวันที่ 9 และ 10 ก.ย. จังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 9 และ 11 ก.ย. จังหวัดพิจิตรในวันที่ 10 และ 11 ก.ย. และจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 11 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11 ก.ย. มีฝนร้อยละ 35 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 8 และ 9 ก.ย. จังหวัดเลยและชัยภูมิในวันที่ 8 และ 10 ก.ย. และจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 12 ก.ย.ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 6 และ 11 ก.ย. และจังหวัดลพบุรีในวันที่ 7 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 7 และ 9 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 7, 8 และ 10 ก.ย. จังหวัดสระแก้วในวันที่ 7 และ 9 ก.ย. จังหวัดจันทบุรีและตราดในวันที่ 8 ก.ย. จังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 8 และ 9 ก.ย. จังหวัดระยองในวันที่ 8 และ 10 ก.ย. และจังหวัดนครนายกในวันที่ 12 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 70-85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 8-9 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 8 ก.ย. และจังหวัดกระบี่และตรังในวันที่ 9 ก.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร สมุทรปราการ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด ระนอง พังงา ตรัง และ สตูล ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และกระบี่

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ