พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 20 - 26 กันยายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday September 20, 2021 15:34 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 - 26 กันยายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 114/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.ย. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง รวมทั้งจัดเตรียมอาหารสัตว์และน้ำกินสำหรับสัตว์ และระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อม สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบจุด ในสตรอเบอรี่ โรคราสนิมในกาแฟ และโรคราน้ำฝนในลำไย ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 20 - 21 และ 25 - 26 ก.ย. 64 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง สำหรับชาวนาควรระวังหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย เพื่อไม่ให้หอยเข้ามาขยายพันธุ์ในแปลงนากัดกินต้นข้าว ในระยะต่อไป สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชจากเชื้อราใน พืชไร่ พืชผัก และข้าวนาปี เช่น โรคหัวเน่าในมันสำปะหลัง โรคแอนแทรกโนสในพริก และโรคไหม้ในข้าวนาปี เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 20 - 22 และ 25 - 26 ก.ย. 64 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรดูแลระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเสริมขอบบ่อให้สูงขึ้นตลอดจนจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ระวังป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและไม้ดอก เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในส้มโอ โรคแอนแทรกโนสในกล้วยไม้ เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 20 - 22 และ 25 - 26 ก.ย. 64 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงที่มีฝนตกชุก เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชไร่ เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา และโรครากเน่าในพริกไทย เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 21 - 26 ก.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพูในยางพารา รวมทั้งโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกและผลที่เน่าเสียไว้ในบริเวณสวนเพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศ มีความชื้นสูง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13 - 19 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต้นและกลางสัปดาห์ โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน "โกนเซิน (CONSON (2113))" บริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์และมีรายงานน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 15-16 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดตากและสุโขทัยในวันที่ 16 ก.ย.

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 16-18 ก.ย. มีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนครราชสีมาและเลย กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 18 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 15-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15, 16 และ 19 ก.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 14 และ 19 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 13-16 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 17-18 ก.ย. มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์และในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก กับมีรายงาน     น้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 18 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 14, 15 และ 19 ก.ย. มีฝนร้อยละ 75-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก    มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 16-17 ก.ย. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและปลายสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 18 ก.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 19 ก.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดตาก สุโขทัย เลย หนองคาย อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ยโสธร กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ