พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 11 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday October 11, 2021 13:35 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 11 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 123/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร หลังจากนั้น บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง"คมปาซุ" บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ และเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำในช่วงวันที่ 12-13 ต.ค. 64

คำเตือน ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 11-12 ต.ค. 64 มีฝนตกหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 5-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับทางตอนบนของภาคปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเตรียมจัดทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมหนาวโกรกโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรดูแลระบบให้ความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 11 และ 14-15 ต.ค. 64 มีฝนตกหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม รวมทั้งระวังและป้องกันโรคหลังน้ำท่วม เช่น โรคตาแดงและโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น รวมทั้งโรคที่มียุงเป็นพาหะ นอกจากนี้ควรระวังป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ และพืชผัก โดยเฉพาะในข้าวนาปี ซึ่งหนอนจะกัดกินต้นและใบข้าวทำให้ต้นข้าวเสียหายผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 11-12 ต.ค. 64 มีฝนตกหนักมาก อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย พื้นที่ซึ่งมีฝนตกทำให้ความชื้นในดินและในอากาศมีสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าใน ส้มโอ โรคใบจุดในกล้วยไม้ โรคใบจุดสนิมในฝรั่ง และโรคราน้ำค้างในองุ่น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังโรงเรือนอย่าให้รั่วซึมป้องกันสัตว์เปียกชื้น และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และไม่ควรให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรวันที่ 17 ต.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนตกชุก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โดยเฉพาะ เงาะ ทุเรียน ลองกอง โรคยอดเน่าในสัปปะรด โรครากเน่าในพริกไทย โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และไม่ควรให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร วันที่ 17 ต.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 11-16 ต.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร วันที่ 17 ต.ค. 64 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ