พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday November 8, 2021 15:47 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 135/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9 - 14 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้อากาศเย็นลงกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 3-7 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑลอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 9 - 14 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 3-7 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 13 พ.ย. 64 อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส มีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันและควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารลง เนื่องจากช่วงที่อุณหภูมิลดลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลง อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย อนึ่ง เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงนี้ยังคงทำได้เนื่องจากดินยังคงมีความชื้น แต่ควรมีน้ำสำรองให้กับพืช ในระยะเจริญเติบโตและช่วงผลิดอกออกผล เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 13 พ.ย. 64 อุณหภูมิจะลดลง 3-7 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล อากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ในช่วงวันที่ 9 - 13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 3-7 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอสำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน และควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็น อ่อนแอ และเป็นโรค ได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากช่วงที่อุณหภูมิลดลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลง อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 13 พ.ย. 64 อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจหากพบควรรีบกำจัด ส่วนทางตอนล่างของภาคพื้นที่ซึ่งมีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทสะดวก พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ และในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9 - 13 พ.ย. 64 อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต เกษตรกรควรหมั่นสำรวจหากพบควรรีบกำจัด ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารลง เนื่องจากช่วงที่อุณหภูมิลดลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ในวันที่ 8 และ 14 พ.ย. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 9 - 13 พ.ย. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8 - 13 พ.ย. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา และโรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย อนึ่ง ระยะนี้ บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลงในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยในวันสุดท้ายของสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเกือบตลอดสัปดาห์ส่วนมากบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก กับมีอากาศเย็นหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับบริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนาแน่นตลอดสัปดาห์จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียในระหว่างวันที่ 2-5 พ.ย.

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอย โดยมีฝนร้อยละ 40-65 ของพื้นที่ ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีรายงานฝนหนักบางแห่งในวันที่ 1, 2 และ 4 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 4 พ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดภูตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม หนองบัวลำภู ขอนแก่น และอุบลราชธานี ภาคกลาง มีอากาศเย็นบางพื้นที่บริเวณจังหวัดกาญจนบุรีตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 30-75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและปลายสัปดาห์ ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะกลางสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 50-80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในระยะกลางสัปดาห์ มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 1, 4, 5 และ 6 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 65-85 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในวันที่ 3 และ 6 พ.ย. มีฝนหนักมากบางพื้นที่. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชในวันที่ 6 พ.ย. และจังหวัดพัทลุงในวันที่ 7 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็น บางพื้นที่ในวันแรกและในระยะกลางสัปดาห์ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3, 5 และ 7 พ.ย. มีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6 พ.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดกระบี่ในวันที่ 5-7 พ.ย. และจังหวัดตรังในวันที่ 6-7 พ.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เลย อุบลราชธานี อุทัยธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา และกระบี่

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ