พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Wednesday November 17, 2021 15:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 139/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ย. บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบนอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส และมีอากาศเย็น เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดและหนอนเจาะฝักในข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ในระยะแรก กับมีลมแรง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส และอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืช เช่น จักจั่นอ้อยและแมลงนูนหลวงในอ้อย เป็นต้น นอกจากนี้ควรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ย. มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งและมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืช เช่น หนอนกอข้าวและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรให้อาหารอย่างเหมาะสม เพราะอากาศเย็นจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะลำต้นและด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นในทุเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ควรตัดแต่งกิ่ง ทำทรงพุ่มให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสม

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง และควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคลำต้นเน่าและโรคราสนิมในปาล์มน้ำมัน เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนอย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2564 ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย อุบลราชธานี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา พังงา และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ