พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday November 29, 2021 15:28 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ? 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 144/64

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง จะ/ เคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนมากตั้งแต่บริเวณภาคใต้ตอนกลางถึงตอนล่าง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 2-5 ธ.ค. 64 ร่องมสรุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่างจะเลื่อนลงไปพาดผ่านประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค อนึ่ง ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวอย่างต่อเนื่อง กับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลงอีก 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้จะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64

คำเตือน ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 2 ธ.ค.

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้อุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่องป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน ทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.บริเวณเทือกเขาและยอดดอยอาจมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 4-6 องศา ทำให้มีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่องป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะเขือเปราะ ควรระวังศัตรูพืชจำพวกแมลงหวี่ขาวยาสูบ โดยศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบ และยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส สาเหตุของโรคใบหงิกเหลืองในมะเขือเปราะ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศา ทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเลือกใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย รวมทั้งควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผักไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม เนื่องจากในช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค. 64 อากาศเย็น กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 1-5 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศา ทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม เนื่องจากในช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64

ในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในวันที่ 2-5 ธ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 64 ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในวันที่ 1-5 ธ.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม. - มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับชาวสวนยางพารา ควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคหน้ากรีดยาง โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น

อนึ่ง บริเวณทะเลอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง รวมทั้งควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงพัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นได้แผ่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนส่วนมากในระยะต้นสัปดาห์ ส่วนภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังกำลังค่อนข้างแรงเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยร่องมรสุมนี้ได้พาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีรายงานฝนหนักถึงหนักมายในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้าท่วมในบางพื้นที่

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปทางตอนบนของภาค ส่วนตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์และหนาวจัดบางพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ และมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์และมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะกลางและปลายสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณเทือกเขาและยอดภู โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาคในระยะต้นสัปดาห์

ภาคกลาง มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์

ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ กับมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีรายงานฝนหนักถึงหนักมากตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 22 พ.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 23-25 พ.ย. จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 23-28 พ.ย. จังหวัดพัทลุงในวันที่ 24 พ.ย. จังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราชในวันที่ 25-28 พ.ย. และจังหวัดสงขลาในวันที่ 28 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์และในวันสุดท้ายของสัปดาห์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีรายงานฝนหนักมากบริเวณจังหวัดรชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และปัตตานี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา และสตูล สำหรับปริมาณฝนมากที่สุด วัดได้ 244.3 มิลลิเมตร ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ