พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 4 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday February 4, 2022 15:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 4 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 15/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. ลมฝ่ายตะวันตกยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยเกิดขึ้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

คำเตือน ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. บริเวณภาคเหนือจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่า เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 9-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. จะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-6 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. ควรระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-6 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นในตอนเช้า เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรให้ปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม เนื่องจากอากาศเย็นจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงสายจึงให้อาหารเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และวางแผนใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-6 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 7-10 ก.พ. จะมีฝนบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผลและพืชผัก

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 8-10 ก.พ. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก สำหรับในบางพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนแผ่ปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ในระยะต้นช่วง โดยมีบริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะครึ่งหลังของช่วง ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเกือบตลอดช่วง ลักษณะดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคตลอดช่วง นอกจากนี้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียง ใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกในระยะต้นช่วง จากนั้นได้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ในระยะครึ่งหลังของช่วง กับมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะต้นและกลางช่วง ทำให้มีฝนบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกในระยะต้นและกลางช่วง จากนั้นมีการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและการกระจายของฝนในระยะปลายช่วง

ภาคเหนือ มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ในระยะปลายช่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะกลางช่วง ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักถึงหนักมากในระยะปลายช่วง ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 5-15 ของพื้นที่ในวันที่ 29 ม.ค. และระยะปลายช่วง ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-55 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 29 ม.ค. และในระยะปลายช่วง

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเลย ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี พังงา ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ