พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 12 - 18 กันยายน พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2022 16:11 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 12 - 18 กันยายน พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 109/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 12 - 14 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศกัมพูชา ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทย จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มน้ำ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 12 - 13 และ 17 - 18 ก.ย. ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เนื่องจากฝนที่ตกชุกในระยะนี้ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น โดยหมั่นสำรวจพื้นที่การเกษตร หากพบโรคพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด โดยตัดส่วนที่เป็นโรคและศัตรูพืชทำลายไปกำจัดนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย ในสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น และควรหมั่นสังเกตหากพบตัวที่เป็นโรคควรรีบแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู สำหรับพื้นที่ซึ่งมีน้ำหลากชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่มากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย ส่วนในช่วงที่มีฝนตกสภาพอากาศชื้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื่อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ในข้าวนาปี ซึ่งสามารถเกิดได้กับข้าวในทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน รวมทั้งดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลังคาโรงเรือนไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น หนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนานทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควร ดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น หนาวเย็น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนที่ตกชุก สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เช่น โรคดอกเน่าในดาวเรือง โรคยอดเน่าในกล้วยไม้ และโรคแอนแทรกโนสในองุ่น เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. ในช่วงวันที่ 12 - 14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงโดยตรง เพื่อป้องกันสภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ เนื่องจากฝนที่ตกชุก สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรค ใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา โรครากเน่าในพริกไทย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 12 - 14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 12 - 14 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 18 ก.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำ แยกชั้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 5 - 11 กันยายน 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางในวันที่ 6 ก.ย. โดยร่องมรสุมนี้ได้พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาในวันที่ 7-8 ก.ย. และเลื่อนกลับขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์กับมีรายงานลมกระโชกแรงและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สำหรับภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นในระยะครึ่งแรกของสัปดาห

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 5 ก.ย. จังหวัดลำปางในวันที่ 5, 7 และ 11 ก.ย. จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 5, 10 และ 11 ก.ย. จังหวัดพะเยาและเพชรบูรณ์ในวันที่ 5 และ 11 ก.ย. จังหวัดลำพูน แพร่ และสุโขทัยในวันที่ 10 ก.ย. และจังหวัดน่านในวันที่ 11 ก.ย. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิษณุโลกวันที่ 6 ส.ค. และจังหวัดแพร่ในวันที่ 7 ก.ย. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงรายและน่านในวันที่ 11 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 5 ก.ย. จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 8 ก.ย. จังหวัดมหาสารคามและขอนแก่น ในวันที่ 9 ก.ย. จังหวัดเลย อุดรธานี หนองบัวลำภู และบุรีรัมย์ในวันที่ 10 ก.ย. และจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 11 ก.ย. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดหนองคายในวันที่ 6 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 20-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6-7 ก.ย. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดอ่างทอง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 6 ก.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรีในวันที่ 9 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 9 และ 10 ก.ย. มีฝนร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดชลบุรี ในวันที่ 6 ก.ย. จังหวัดระยองในวันที่ 7 ก.ย. จังหวัดจันทบุรีในวันที่ 7-9 ก.ย. จังหวัดฉะเชิงเทรา ตราด และสระแก้วในวันที่ 8 ก.ย. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดระยองในวันที่ 7 ก.ย. จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทราในวันที่ 8 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝน ร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ในวันที่ 6, 7 และ 9 ก.ย. ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 45-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก เลย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี นนทบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ