พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 29 มกราคม 2553 - 04 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Friday January 29, 2010 14:39 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 29 มกราคม 2553 - 04 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29 -30 ม.ค. ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-15 องศาเซลเซียส มีหมอกในตอนเช้ากับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-13 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 31 ม.ค.- 4 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ เกษตรกรควรระมัดระวังอันตรายขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา สำหรับไม้ดอกและผักชนิดต่างๆ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ซึ่งจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค.- 2 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาบางพื้นที่ บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 3-4 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากบริเวณตอนล่างของภาค เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้งเพราะอาจจะเสียหายเนื่องจากฝนที่ตกได้ แม้จะมีฝนในระยะนี้แต่ปริมาณน้อยคงจะไม่เพียงพอ สำหรับไม้ผลที่กำลังออกดอกและติดผลอ่อน เช่น มะม่วง ชาวสวนจึงควรดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ ป้องกันไม่ให้ผลอ่อนชะงักการเจริญเติบโตและร่วงหล่น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่างๆไว้ด้วย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 29 -30 ม.ค. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า และมี ฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 31 ม.ค.-4 ก.พ. อุณหภูมิจะ สูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ ระยะนี้มีฝนตกน้อยอาจจะไม่เพียงพอสำหรับ ไม้ผล เช่น องุ่นและมะม่วง ซึ่งกำลังออกดอก ชาวสวนจึงควรดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ด้วย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค.- 2 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ถึงเป็นแห่งๆ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 3-4 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้ากับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากบริเวณชายฝั่ง สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้และวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนไม้ผลที่กำลังออกดอก เช่น เงาะและทุเรียน ชาวสวนควรให้น้ำเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันดอกร่วงหล่นและการติดผลลดลง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟและไรชนิดต่างๆ ด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 1- 4 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่ง ๆ ตลอดช่วงสำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในระยะต่อไปด้วย ส่วนไม้ผลและ ไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอและคลุมโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำจากดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ