พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 01 กุมภาพันธ์ 2553 - 07 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Monday February 1, 2010 14:41 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 01 กุมภาพันธ์ 2553 - 07 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ทางตอนบนของอากาศหนาว ส่วนทางตอนล่าง ของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรจึงควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้น ของไม้ผลให้แข็งแรง สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก หากเห็นดอกชัดเจนแล้ว เกษตรกรจึงค่อย ให้น้ำโดยเริ่มจากปริมาณที่น้อยและค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพราะไฟอาจลุกลาม ทำให้เกิดอัคคีภัยขึ้นได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรง บางแห่ง ระยะนี้สภาพอากาศแห้งทำให้น้ำระเหยรวดเร็ว เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เพื่อสงวนความชื้นในดิน สำหรับ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำให้สมดุลกับจำนวนสัตว์ที่เลี้ยง หากไม่สมดุลสัตว์จะอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

มีหมอกบางในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และลมกระโชกแรงบางแห่ง ระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณต่ำไม่เพียงพอแก่พืช เกษตรกรควรให้น้ำพืชเพิ่มเติมโดยให้ในปริมาณทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง หากเป็นไปได้ควรให้น้ำ ในตอนกลางคืน เพื่อลดการระเหยของน้ำ ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว ไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเนื่องจากหมอกและน้ำค้าง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรปลูกพืชที่อายุเก็บเกี่ยวเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง และควรใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

มีหมอกบางในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง และในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และลมกระโชกบางแห่ง ผู้ที่ปลูกไม้ผล จึงควรผูกยึดกิ่งและค้ำยันต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มและหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ค้ำยัน ของไม้ผลให้แข็งแรง สำหรับไม้ผลอยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อนเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช จำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยไฟและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ การติดผลลดลง รวมทั้งควรให้น้ำอย่างเหมาะสม

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่สำรองไว้อย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยโดย ดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังจากใช้งาน และทำแนว กันไฟรอบบริเวณสวนเพื่อป้องกันไฟลุกลาม

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ