พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 05 กุมภาพันธ์ 2553 - 11 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2010 14:37 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 กุมภาพันธ์ 2553 - 11 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ทางตอนบนของอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส เว้นแต่ในช่วงวันที่ 5-6 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ต่อจากนั้นอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา และไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งเพราะอาจจะเสียหายจากฝนและลมโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 5-6 ก.พ.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 5-8 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจจะเปียกชื้นเสียหายจากฝนที่ตกได้ ส่วนผู้ที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ลำต้นแคระแกร็น ผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และลมกระโชกแรงบางแห่ง ต่อจากนั้น มีหมอกบางในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรเลือกพืชประเภททนแล้ง ใช้น้ำน้อย และอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะ การเจริญเติบโต รวมทั้งคลุมโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำจากดิน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 5-7 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และลมกระโชกบางแห่ง ต่อจากนั้นมีหมอกบางในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งส่วนมากตามบริเวณชายฝั่งและเทือกเขา เกษตรกรจึงควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเสียหายได้จากสภาวะดังกล่าว สำหรับชาวสวนไม้ผลควรให้น้ำสม่ำเสมออย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลอ่อนและดอกร่วงหล่น ส่วนชาวไร่อ้อยควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคแส้ดำและเพลี้ยสำลี ซึ่งอาจระบาดได้ในระยะนี้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกมีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมโดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้นและพืชที่เพิ่งปลูกใหม่ เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำจนชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรบริหารจัดการน้ำที่สำรองไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ