พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 10 กุมภาพันธ์ 2553 - 16 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2010 14:38 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 10 กุมภาพันธ์ 2553 - 16 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ทางตอนบนของอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-10 องศาเซลเซียส เนื่องจากช่วงนี้อุณหภูมิอากาศตอนเช้าและตอนกลางวันแตกต่างกันมาก อาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยง สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงนี้ควรเลือกปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งใช้น้ำน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และอีกทั้งเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-15 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 12-14 ก.พ. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง ส่วนชาวสวนควรค้ำยันกิ่งของไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิตให้แข็งแรง เพื่อป้องกันความเสียหายจากลมกระโชกแรง สำหรับมะขามหวานที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยว ชาวสวนควรป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจระบาดทำลายฝัก

ภาคกลาง

มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 13-14 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ เกษตรกรจึงควรระวังความเสียหายของผลผลิตการเกษตรที่ตากไว้กลางแจ้งเนื่องจากฝนในช่วงนี้ อย่างไรก็ดีโดยทั่วไปจะมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำพวกเพลี้ย ซึ่งอาจระบาดทำลายพืชไร่และพืชผัก เช่น เพลี้ยอ่อนในถั่วเหลือง เพลี้ยแป้งในพืชผัก

ภาคตะวันออก

มีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่งและเทือกเขา และในช่วงวันที่ 13-14 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ปริมาณฝนที่ตกอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช โดยเฉพาะไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิต หากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตลดลง ชาวสวนควรให้น้ำเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชรอบๆ โคนต้น เพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาคตลอดช่วง ระยะที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ไม่มีฝนตก และปริมาณฝนในช่วงนี้มีน้อย เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช รวมทั้งคลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อสงวนความชื้นดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ