พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 15 กุมภาพันธ์ 2553 - 21 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2010 14:51 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 15 กุมภาพันธ์ 2553 - 21 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

มีหมอกในตอนเช้าและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด เว้นแต่ช่วงวันที่ 17-18 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ทางด้านตะวันออกภาค ในระยะนี้อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดแตกต่างกันมากอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เพราะไฟอาจลุกลามทำให้เกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-19 ก.พ. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง และต่อจากนั้น ฝนลดลงและมีอากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เนื่องจากระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นในดิน สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นตรวจสอบสภาพน้ำและดูแลปริมาณน้ำให้สมดุลกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง เพราะหากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

มีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เว้นแต่ในช่วงวันที่ 16-19 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในช่วงแล้งนี้ปริมาณฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น หากเป็นไปได้ควรให้น้ำตอนกลางคืน เพื่อลดการระเหยของน้ำ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดความร้อนอบอ้าวภายในโรงเรือนโดยใช้วัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปวางไว้ในโรงเรือน หรือฉีดน้ำบริเวณหลังคาโรงเรือน รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยง

ภาคตะวันออก

มีอากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่ง และเทือกเขา เว้นแต่ในช่วงวันที่ 17-19 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่ผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง สำหรับบริเวณ ที่สภาพอากาศแห้งชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นทรุดโทรม การติดผลลดลง นอกจากนี้ควรวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ใช้ทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้ มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ตลอดช่วง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่าง เหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ สำหรับชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยภายในบริเวณสวน โดยทำแนวกันไฟรอบบริเวณสวน และหลีกเลี่ยงการจุดไฟในสวน หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลักเลิกใช้งาน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ