พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 24 กุมภาพันธ์ 2553 - 02 มีนาคม 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday February 24, 2010 14:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 24 กุมภาพันธ์ 2553 - 02 มีนาคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-27 ก.พ.ในตอนเช้ามีหมอกและทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส โดยมีฟ้าหลัวและอากาศร้อนในตอนกลางวัน ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. -1 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง กับลมกระโชกแรง ระยะนี้อุณหภูมิสูงขึ้น ความชื้นก็ลดลง ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีอัตราน้ำระเหยสูง เกษตรกรที่ปลูกผักจึงควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และคลุมดินบริเวณแปลงปลูกเพื่อสงวนความชื้นในดิน รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตะวันออกของภาค ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 26 ก.พ. -2 มี.ค. มีฟ้าหลัวและอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ระยะนี้อากาศร้อนในตอนกลางวัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้งควรรักษาระดับน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ให้ลดต่ำจนเกินไป เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งอาจทำให้สัตว์เครียด อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 26 ก.พ.-2 มี.ค. อากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ระยะนี้ในตอนกลางวันอากาศร้อน ผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอาจมีการระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยชนิดต่างๆ เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นแคระแกร็นและชะงักการเจริญเติบโต หากพบควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้ระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 26ก.พ.-2 มี.ค. ทางตอนบนของภาคมีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งที่ ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่งและเทือกเขา ผู้ที่ปลูกถั่วเขียว ถั่วลิสง ที่กำลังแตกใบอ่อนควรระวังและป้องกันศตรูพืชจำพวกหนอนกินใบ ซึ่งจะกัดกินยอดอ่อนทำให้ต้นพืชเสียหาย และชะงักการเจริญเติบโต ส่วนผู้ที่ปลูกไม้ผลควรหาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมบริเวณโคนต้น เพื่อสงวนความชื้นในดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 26 ก.พ.- 2 มี.ค. มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 24-27 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ต่อจากนั้นมีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ระยะที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงระยะต่อไปจะมีปริมาณฝนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรจึงควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้นและพืชที่เพิ่งปลูกใหม่ เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำรุนแรงจนชะงักการเจริญเติบโต

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ