พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 3 มีนาคม 2553 - 9 มีนาคม 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2010 14:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 03 มีนาคม 2553 - 09 มีนาคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 3-7 มี.ค. อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส เว้นแต่ทางตอนบนของภาคในตอนเช้าอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-9 มี.ค. จะมีพายุฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกษตรกรควรระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องงดการเผาเศษซากพืชในแปลงปลูก เพราะอากาศที่ร้อน แห้ง และลมแรงจะทำให้เกิดการลุกลามของอัคคีภัยได้ง่าย นอกจากนี้ควันไฟจะแผ่ปกคลุมเป็นพื้นที่กว้าง เป็นอันตรายต่อการสัญจรและสุขภาพของเกษตรกร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 3-7 มี.ค.มีอากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 8-9 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจโดนฟ้าผ่าเป็นอันตรายได้ สำหรับพืชตระกูลถั่วที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรไม่ควรเผาต้นถั่วในแปลงปลูก เพราะความร้อนจะไปทำลายจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นควรไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยหรือนำไปคลุมพื้นที่เพาะปลูก เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 3-7 มี.ค. อากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-9 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับสัตว์เลี้ยงควรได้รับน้ำดื่มให้เพียงพอ เพื่อลดอาการเครียดจากสภาพอากาศร้อน และงดการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 3-7 มี.ค. ทางตอนบนของภาคมีอากาศร้อน และฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-9 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยค้ำยันกิ่งไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิตให้แข็งแรง นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนอาจมีแมลงศัตรูพืชแพร่ระบาดมากขึ้น เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง ในระยะนี้มีปริมาณฝนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้พืชมีการคายระเหยน้ำมาก ดังนั้นเกษตรกรจึงควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่กำลังเติบโตอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืช เพื่อมิให้แย่งน้ำจากต้นพืช และเป็นที่หลบซ่อนของแมลงศัตรูพืช

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ