พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 5 มีนาคม 2553 - 11 มีนาคม 2553

ข่าวทั่วไป Friday March 5, 2010 14:49 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 มีนาคม 2553 - 11 มีนาคม 2553

ภาคเหนือ

อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส เว้นแต่ทางตอนบนของภาคในตอนเช้าอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-19 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 9-10 มี.ค. มีฝนพายุฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการเผาตอซัง หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ เพราะลมแรงอาจทำให้ไฟลุกลามจนเกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ควันไฟและเขม่าที่แผ่ปกคลุมจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและการสัญจร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัดและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรเตรียมภาชนะไว้กักเก็บน้ำและระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยตรวจสอบความแข็งแรงของบ้านเรือน เพื่อป้องกันลมแรงและลูกเห็บที่อาจตกลงมาทะลุหลังคาได้ หากพบว่าส่วนที่ไม่แข็งแรง ควรจะซ่อมแซมในทันที ส่วนบริเวณที่อากาศร้อนจัด ควรปรับปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยง ลดปริมาณการให้อาหารลง โดยเฉพาะอาหารสด เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย อีกทั้งทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดมาจำหน่าย แปรรูป หรือบริโภค เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของสัตว์น้ำภายในบ่อ

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัดและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรจึงควรระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะเกิดพายุนอกจากนี้หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ควรรีบป้องกันกำจัด

ภาคตะวันออก

ทางตอนบนของภาคมีอากาศร้อน และฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ กิ่งไม้ผลที่กำลังให้ผลผลิตให้แข็งแรง นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนทำให้พืชผลแก่เร็วขึ้น แต่อาจมีแมลงศัตรูพืชแพร่ระบาด เกษตรกรจึงควรสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ทราบความเคลื่อนไหวของศัตรูพืชซึ่งจะสามารถจัดการศัตรูพืชได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีความปลอดภัย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในวันที่ 10-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในวันที่ 10-11 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ฝนที่ตกในระยะนี้เกษตรกรควรเตรียมภาชนะไว้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงต่อไปอย่างไรก็ตามปริมาณฝนที่ตกมีน้อย ดังนั้นเกษตรกรควรคลุมบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นในดิน อนึ่งตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. คลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ