ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 18 มิถุนายน 2553 - 24 มิถุนายน 2553
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 18-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ และมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากบริเวณตอนบนและด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 20-24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย สวนลำไยที่กำลังให้ผลผลิตชาวสวนควรผูกยึดและค้ำยันลำต้นและกิ่งของไม้ผลที่รับน้ำหนักมากให้แข็งแรง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของหนอนเจาะขั้วผล ซึ่งจะทำให้ผลร่วงหล่น สำหรับบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักสำรองน้ำไว้ใช้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 18-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย และมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนในช่วงวันที่ 20-24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ระยะนี้สภาพอากาศชื้น ผู้ที่ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อยและมันสำปะหลังที่กำลังเจริญเติบโตควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ ส่วนผู้ที่ปลูกพืชผัก เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกเพื่อป้องกันการระบาดของหนอนซึ่งจะกัดกินผลผลิต สำหรับบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 18-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 20-24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย เกษตรควรดูแลโรงเรือนที่เลี้ยงสัตว์ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ปล่อยให้สัตว์อยู่ในที่ชื้น เพราะจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชรุ่นใหม่ในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและอายุเก็บเกี่ยวสั้น สำหรับบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 18-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วน ในช่วงวันที่ 20-24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ควรเก็บกิ่งไม้และผลที่เน่าเสียไปทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายเนื่องจากคลื่นลมแรง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย เกือบตลอดช่วง ส่วนฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 18-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย สำหรับในช่วงวันที่ 20 -24 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง สภาพอากาศยังมีความชื้นสูงในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ชาวสวนผลไม้ควรเก็บกวาดบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคพืชต่างๆ โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีฝนชุกหนาแน่น เกษตรกรควรจัดทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตกหนัก นอกจากนี้เกษตรกรควรกำจัดแหล่งน้ำขัง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
ได้ให้ไว้ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกแล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74