บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้กำหนดไว้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่บริษัทได้เพิ่มทุนและชำระหนี้ผูกพันทั้งหมดตามข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้และการเพิ่มทุน ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตก็ได้รับแรงกดดันจากข้อจำกัดในด้านความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทและฐานะทางการเงินที่ยังอ่อนแอเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและการตอบสนองจากตลาดต่อการกลับเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท รวมถึงการมีผลงานในการดำเนินธุรกิจใหม่ (ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนและธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์) ของบริษัทในเวลาไม่นานนักด้วย ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมไปถึงระบบการดำเนินงานที่ดีซึ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และฐานะทางการเงินในปี 2553 ของบริษัทที่ดีขึ้น ด้วยเช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าภาวะตลาดหลักทรัพย์จะมีการเคลื่อนไหวในแนวโน้มที่คงที่และไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นในระยะปานกลาง นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความคาดหมายที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก ตลท. ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยความสามารถในการฟื้นคืนฐานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการเข้าถึงเงินทุนจากหลายแหล่งเช่นที่บริษัทเคยกระทำได้ในอดีตยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์บรรลุข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ในวันที่ 20 มีนาคม 2552 และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 บริษัทสามารถบรรลุข้อตกลงตามเงื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการเพิ่มทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ รวมถึงจากผู้ถือหุ้นรายใหม่ และจากการแปลงหนี้เป็นทุน เงินเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,016.74 ล้านบาท (ราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30% จากระดับ 0.92% ณ เดือนมีนาคม 2552 หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว ตลท. ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยถือหุ้นในสัดส่วน 24.66% ตามด้วยกระทรวงการคลัง (10.56%) ธนาคารกรุงไทย (6.02%) และธนาคารออมสิน (4.92%) นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นอื่น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ (18.12%) บริษัทหลักทรัพย์ (15.80%) บริษัทจัดการกองทุน (14.77%) บริษัทประกัน (4.30%) และอื่นๆ (0.85%)
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนมิถุนายน 2555 บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2,972 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3,182 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 และ 3,092 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 ในขณะที่มียอดสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ 2,589 ล้านบาท ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยบริษัทบันทึกผลขาดทุน 901 ล้านบาทและ 858 ล้านบาทในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับ หลังจากการหักขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อขายแล้ว บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 0.3 ล้านบาทในปี 2553 ในขณะที่ในปี 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิเพียงประมาณ 1 ล้านบาท และกลับมาขาดทุนอีก 15 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555
บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงเผชิญกับความท้าทายในธุรกิจหลักเนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและการตอบสนองจากตลาดหลังจากที่บริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ในระหว่างปี 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 บริษัทหลักทรัพย์ได้ขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างรวดเร็ว ทำให้ขนาดของสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมโดยรวมขยายตัวเป็น 29 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2555 จาก 16 พันล้านบาทในปี 2552 บริษัทได้สูญเสียต้นทุนทางการเงินในระดับที่แข่งขันได้ไป ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจหลักลดลง ณ เดือนมิถุนายน 2555 ยอดสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ที่จำนวน 2,094 ล้านบาท ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงจาก 22%-29% ในช่วงปี 2549-2551 ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในปี 2551 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงเป็น 14% ในปี 2552 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 7% ณ เดือนมิถุนายน 2555
ตามแผนธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์มีลู่ทางที่ดีในธุรกิจใหม่ คือ ธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชนและธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ แต่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังต้องการเวลาในการสร้างผลงานและบรรลุผลสำเร็จในการขยายตลาดตามแผนธุรกิจ หลังจากความสำเร็จในการเพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2552 แล้ว บริษัทก็มีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อสินทรัพย์รวมก็เพิ่มขึ้นจาก 0.71% ในปี 2551 เป็น 29.3% ในปี 2552 และ ณ เดือนมิถุนายน 2555 สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 38.22% เนื่องจากสินทรัพย์ลดขนาดลง ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ