In Focusเกาะติดม็อบฮ่องกง การประท้วงที่ยังบานปลายกับความเคลื่อนไหวของจีนแผ่นดินใหญ่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 14, 2019 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเป้าหมายของผู้ชุมนุมได้ลุกลามบานปลายจากเดิมที่เป็นการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน กลับกลายมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้นางแคร์รี ลัม ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมทั้งการทำให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่

การประท้วงครั้งใหญ่นี้ได้ชื่อว่าเป็นการประท้วงที่มีผู้ออกมาเข้าร่วมชุมนุมมากที่สุด และยังเกิดการปะทะรุนแรงที่สุดในรอบกว่าสิบปีของฮ่องกง มีจุดเริ่มต้นมาจากคดีฆาตรกรรมของคู่รักวัยรุ่น หลังจากที่ฝ่ายชายออกมาสารภาพว่าเขาได้ลงมือฆาตกรรมแฟนสาวของตนเองขณะเดินทางไปเที่ยวไต้หวันด้วยกัน แต่ทางการฮ่องกงกลับไม่สามารถดำเนินคดีกับชายผู้นั้นได้ เนื่องจากการกระทำความผิดเกิดขึ้นที่ไต้หวัน และฮ่องกงกับไต้หวันก็ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ครั้นจะทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน เพื่อส่งตัวผู้กระทำความผิดเข้าไปรับโทษ ตามกฎหมายแล้วไต้หวันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนในทางปฏิบัติจึงต้องเป็นสนธิสัญญาระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวฮ่องกงไม่ต้องการและคัดค้านมาตลอด จึงมีการเสนอให้แก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับเดิมให้สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศต่าง ๆ แม้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกงได้เป็นกรณี ๆ ไป

ข้อเสนอดังกล่าวได้สร้างความไม่สบายใจให้กับชาวฮ่องกง เนื่องจากพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีน และมองว่าจีนอาจเข้ามาแทรกแซง หรือใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นกลไกลในการขอให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปให้จีน จนทำให้เกิดการรรวมตัวกันออกมาประท้วงการแก้กฎหมายดังกล่าว และบานปลายจนกลายเป็นการปะทะที่รุนแรงขึ้นเป็นระลอก ๆ จนรัฐบาลฮ่องกงต้องยอมระงับการผลักดันกฎหมายดังกล่าวในที่สุด

*รัฐบาลยอมถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ทำไมสถานการณ์ยังคุกรุ่น

การชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงยังคงลุกลาม แม้รัฐบาลจะออกมาประกาศระงับการแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว แต่ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวกลับลุกฮือและแสดงการขัดขืดต่อรัฐบาลจนบานปลายสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยและความรับผิดชอบของรัฐบาล อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ได้อธิบายในงานเสวนา "ฮ่องกง: ทำไมต้องประท้วง? We Need to Talk about Hong Kong" ซึ่งจัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการลุกฮือ เป็นเพราะชาวฮ่องกงรู้สึกบีบคั้นจากความไม่ชัดเจนของนโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เมื่อครั้งได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1997 โดยที่จีนยินยอมให้ฮ่องกงบริหารประเทศด้วยตัวเอง มีกฎหมายเป็นของตัวเอง ใช้ระบบเศรษฐกิจตามรูปแบบตัวเอง รัฐบาลในปักกิ่งเพียงดูแลด้านการทหารและการต่างประเทศเท่านั้น พร้อมให้สัญญาว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 50 ปี ในขณะที่ธรรมนูญการปกครองฮ่องกงมาตรา 45 และ 48 ก็มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จุดหมายปลายทางก็คือ Universal Suffrage ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิ์เลือกผู้บริหารและสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้โดยตรง แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ Universal Suffrage ไม่มีการระบุไทม์ไลน์ไว้อย่างแน่นอน จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่า ฮ่องกงจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้เมื่อไหร่ การประท้วงครั้งนี้จึงมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องด้วย

การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในฮ่องกง เมื่อปี 2014 ชาวฮ่องกงก็เคยออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยแบบเต็มใบมาแล้ว หลังจากที่ในปี 2007 รัฐบาลจีนได้เคยรับปากว่าจะยินยอมฮ่องกงสามารถเลือกตั้งผู้บริหารของตนเองได้ในปี 2017 แต่เอาเข้าจริง จีนกลับประกาศว่าผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในฮ่องกงต้องผ่านการสกรีนจากรัฐบาลในปักกิ่งเสียก่อน ซึ่งฮ่องกงมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฮ่องกง จนที่สุดเลยต้องใช้ระบบเดิมมาจนทุกวันนี้

*1 ประเทศ 2 ระบบ ดาบสองคมบนความพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน

ในงานเดียวกัน รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงการปกครองแบบ" 1 ประเทศ 2 ระบบ" ของฮ่องกงว่า เป็นสิ่งที่ทำให้การปกครองของฮ่องกงดูจะซับซ้อนและพิเศษกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยรศ.ดร.วาสนา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ฮ่องกงกลับเข้ามาอยู่ภายใต้รัฐชาติจีนนั้น เป็นช่วงเวลาที่จีนมีการปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว แม้ว่าจีนจะปกครองโดยรัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ แต่แนวทางการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุคที่ฮ่องกงกลับคืนมาก็ไม่ใช่แนวทางเดียวกับจีนในสมัยของผู้นำเหมา เจ๋อ ตุง แต่เป็นจีนที่ได้รับการปฏิรูปและเข้าสู่ระบบตลาดแล้ว จึงทำให้การปกครองรูปแบบนี้มีความย้อนแย้งในอะไรหลาย ๆ อย่าง รัฐชาติก็ไม่ใช่รัฐชาติที่เรารู้กัน สังคมนิยมแบบจีนก็ไม่ใช่สังคมนิยมแบบในตำราที่เราเรียน ๆ กันมา การได้เอกราชของฮ่องกงก็ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศมีการเฉลิมฉลองวันชาติ วันที่ได้รับเอกราช เพื่อระลึกถึงความเจ็บปวดจากการต่อสู้จนได้รับอิสรภาพ แต่ที่ฮ่องกงเรากลับเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนที่โหยหายุคแห่งความเป็นอาณานิคม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องแปลกที่ไม่เข้ากรอบความคิดทางวิชาการในตำราใด ๆ ที่มีอยู่เลย

แม้คำว่า "1 ประเทศ 2 ระบบ" จะฟังดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แล้วทำไมคนฮ่องกงยังโหยหาช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หากมองย้อนไปเมื่อ 22 ปีที่แล้ว คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฮ่องกงยอมกลับเข้าสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่โดยไม่อิดออดมากนัก เป็นเพราะความเชื่อมั่นในคำสัญญาที่รัฐบาลจีนให้ไว้ แต่ยิ่งเวลาล่วงเลยผ่านไปมากเท่าไหร่ ยิ่งมีสัญญาณของการแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำของฝั่งแผ่นดินใหญ่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เคยมีกลับกลายมาเป็นความรู้สึกที่อยู่ภายใต้การปกคลุมของเงามืดจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารประเทศเองก็ยังต้องเป็นคนของแผ่นดินใหญ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความไม่พอใจฝังรากลึกอยู่ในใจของชาวฮ่องกง ข้อความที่ระบุบนป้ายประท้วงว่า "Free Hong Kong" จึงเป็นเสมือนสัญญาณของระเบิดเวลาที่กำลังรอเวลาระเบิดในวันข้างหน้า

*บทเรียนจากเทียนอันเหมิน กับท่าทีของแผ่นดินใหญ่

การประท้วงที่กำลังลุกลามในฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ท้าทายความอดทนของรัฐบาลจีนที่กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งในประเทศและนานาชาติ หลังจากที่จีนออกมาระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง เป็นการก่ออาชญากรรมรุนแรง และบ่งชี้ถึงการก่อการร้าย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการส่งคำเตือนอย่างรุนแรงที่สุดไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจปูทางไปสู่การใช้กองกำลังความมั่นคงแห่งชาติของจีนในการปราบปราม เช่นเดียวกับที่จีนเคยใช้ข้ออ้างของการก่อการร้ายในการกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในซินเจียง และทิเบตมาแล้ว จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลของชาติตะวันตก และกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ในขณะที่ล่าสุดก็เริ่มมีกระแสเรียกร้องออกมาจากสื่อจีนให้รัฐบาลเข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาดมากกว่าเดิม หลังมีข่าวออกมาว่านักข่าวจีนถูกกลุ่มผู้ประท้วงจับกุมจากเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสนามบินฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองยังคงว่า สถานการณ์ในฮ่องกงจะไม่รุนแรงเท่าครั้งเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ซึ่งรัฐบาลจีนได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก แม้จีนจะไม่เคยออกมาเปิดเผยจำนวนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าอาจมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักพัน หรืออาจจะถึงหลักหมื่นคน เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพรรคอมมิวนิสต์จีนมาอย่างยาวนาน จนกลายมาเป็น "ตราบาป" ที่ไม่มีวันลบเลือน ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ต้องการแม้จะเอ่ยถึง

ถึงตอนนี้ยังคงไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระลอก ๆ ว่าจีนกำลังเคลื่อนกำลังพลเข้ามาในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งติดกับฮ่องกง เพื่อเตรียมเข้าสลายการชุมนุม ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยภาพการฝึกซ้อมของทหารออกมาเป็นระลอก ๆ แม้จีนจะออกมาปฏิเสธว่าจะไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง แต่ก็เป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มลุกลามกลายมาเป็นการเรียกร้องเอกราชแล้ว จีนจะทำรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร ในขณะที่ความรุนแรงย่อมไม่ใช่คำตอบที่ดี แต่จะถอยก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นแบบอย่างที่อันตราย ซึ่งอาจนำไปสู่กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือแบ่งแยกดินแดนในเขตปกครองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน และมาเก๊า ที่กำลังคุกรุ่นรอวันปะทุอยู่เช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ