พีบีไอซี มธ. พาเปิดกรุแหล่งเรียนรู้ด้านจีนที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย พร้อมเจาะลึก 5 จุดเด่นสุดว้าว ที่คนหลงใหลเรื่องจีนไม่ควรพลาด

ข่าวทั่วไป Thursday May 23, 2019 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีเปิด "ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์" (Pridi Banomyong Learning Center) แหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย โดยความร่วมมือของหน่วยงาน และบุคคลในแวดวงความสัมพันธ์ไทย – จีน อาทิ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอดีตนักการทูตผู้มีคุณูปการต่อความสัมพันธ์ไทย – จีน สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติฮั่นปั้น (Hanban) รวมถึงอาจารย์ประจำหลักสูตรจีนศึกษาวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ พร้อมเผยความน่าสนใจของแหล่งเรียนรู้จีนศึกษา ที่คนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับจีนต้องไม่พลาด ได้แก่ 1. หนังสือหลากหลายครอบคลุมหมวดหมู่การเรียนรู้ 2. หนังสือแรร์ไอเท็มจากทั่วโลก 3. แหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมจีน 4. สื่อการเรียนรู้จีนอันครบครัน และ 5. เหมาะสำหรับทุกคนที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจีน โดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ได้จัดงานเปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong Learning Center) ชั้น 1 อาคารเอนกประสงค์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pbic.tu.ac.th หมายเลขโทรศัพท์ 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นวิทยาลัยนานาชาติที่มีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) โดยมีหลักสูตรจีนศึกษา เป็นหนึ่งใน 3 หลักสูตรนานาชาติที่กำลังมาแรง นอกจากจุดเด่นด้านความเข้มข้นของเนื้อหาการเรียน คณาจารย์ด้านจีนศึกษาแนวหน้าของเมืองไทย ทั้งชาวไทยและชาวจีน อีกทั้งความโดดเด่นด้านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาพีบีไอซีได้ไปศึกษาที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา พีบีไอซียังมีความโดดเด่นในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษา โดยล่าสุด พีบีไอซีได้จัดพิธีเปิด "ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์" (Pridi Banomyong Learning Center) ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาจีนศึกษาโดยเฉพาะ รวมถึงนักศึกษาพีบีไอซีที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจีน โดยห้องสมุดดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับจีนอย่างรอบด้าน ที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ผศ.ดร. นิธินันท์ กล่าวเพิ่มว่า ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน อาทิ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอดีตนักการทูตผู้มีคุณูปการต่อความสัมพันธ์ไทย – จีน สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติฮั่นปั้น (Hanban) รวมถึงอาจารย์ประจำหลักสูตรจีนศึกษาวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ โดยสามารถรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับจีนได้หลากหลายหมวดหมู่ จำนวนกว่า 2,000 เล่ม ซึ่งแต่ละเล่มมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือที่ได้รับมาจากโอกาสสำคัญต่างๆ หนังสือที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ หรือแม้กระทั่งหนังสือหายากที่เป็นของสะสมส่วนตัว เป็นต้น โดยผู้ที่สนใจศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ จะได้พบกับความน่าสนใจ ดังต่อไปนี้ หนังสือหลากหลายครอบคลุมหมวดหมู่การเรียนรู้ แม้ว่าจะเป็นหนังสือในห้องสมุดของพีบีไอซี แต่ไม่ได้มีเพียงหนังสือในหมวดสังคมศาสตร์ ภาษา หรือวัฒนธรรม เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมหมวดหมู่การเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับจีน ได้แก่ ปรัชญาจีน กฎหมาย การเมืองการปกครอง การทหาร ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตตร์ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา ศิลปะ วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ เป็นต้น หนังสือแรร์ไอเท็มจากทั่วโลก นอกจากหนังสือบางส่วนจะถูกส่งตรงมาจากประเทศจีนแล้ว ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ถูกรวบรวมมาจากทั่วโลก หรือเขียนขึ้นโดยนักเขียนต่างชาติที่สนใจเรื่องราวของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น อักษรและภาพวาดพู่กันจีน โดยศิลปินชาวอังกฤษที่สนใจในศิลปะจีน หนังสือสอนโครงสร้างอักษรจีน เป็นหนังสือที่ผลิตโดยชาวอังกฤษ จัดจำหน่ายในพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม เป็นต้น ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาที่มีความเป็นสากลอย่างมาก แหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมจีน นอกจากความหลากหลายของหมวดหมู่ และที่มาของหนังสือแต่ละเล่ม ห้องสมุดแห่งนี้ยังรวบรวมหนังสือจีนโบราณ หรือหนังสือทำมือ ที่มีคุณค่ามหาศาล โดยใช้ผ้าไหมทำหน้าปกหนังสือ และเข้าเล่มด้วยวิธีร้อยเชือกแบบจีนโบราณ ทั้งยังมีหนังสือโบราณที่อ่านจากขวาไปซ้าย จากหลังไปหน้าก็มีอยู่ในห้องสมุดในศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหนังสือโบราณอย่างแท้จริง และเนื่องจากหนังสือประเภทนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หาดูได้ยาก จึงถูกจัดเก็บไว้ในตู้หนังสือ สำหรับผู้ที่ต้องการชมหนังสือจีนโบราณ จะต้องติดต่อบรรณารักษ์ห้องสมุด เพื่อเปิดให้ชมเป็นกรณีเฉพาะ สื่อการเรียนรู้จีนอันครบครัน ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นที่รวบรวมเพียงแค่หนังสือที่เกี่ยวกับจีนเท่านั้น แต่ยังมีสื่อการเรียนรู้อื่นๆ เกี่ยวกับจีนที่น่าสนใจ อาทิ แผนที่จีน ภาพวาดพู่กันจีน หมากรุกจีน และสื่อโสตทัศน์ หลากหลายเนื้อหา ทั้งสารคดี เรื่องสั้นภาพยนตร์ สื่อประกอบการเรียนการสอนสำหรับใช้พัฒนาทักษะการฟัง – พูดภาษาจีน เป็นต้น เหมาะสำหรับทุกคนที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจีน สำหรับคนที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจีน แต่ไม่รู้ภาษาจีน ก็สามารถค้นคว้าหาความรู้ในศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ ได้เช่นกัน เพราะหนังสือที่เกี่ยวกับจีนหลายเล่มที่นี่ มีภาษาอังกฤษบรรยายกำกับ รวมทั้งมีหนังสืออีกหลายเล่มที่มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย อีกทั้งหนังสือเกี่ยวกับจีนที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนชื่อดังจากทั่วโลก นอกจากนี้ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ ยังมีโซนให้นักศึกษาได้นั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ หรือประชุมงานกลุ่มด้วยกัน (Co – working space) เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ที่มากกว่าในห้องเรียน ตามเป้าหมายการมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับบริบทสังคมโลก ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเปิดรับบริจาคหนังสือเกี่ยวกับจีนทุกประเภท จากบุคคลทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป้าหมายการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านจีนศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งวิทยาลัยมีนโยบายและแผนจัดหาทรัพยากรเพิ่มให้เป็น 10,000 รายการ ภายในปี 2563 สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับจีนในทุกด้าน สามารถสำรองคิวการเข้าใช้งานห้องสมุดล่วงหน้าโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ www.pbic.tu.ac.th หมายเลขโทรศัพท์ 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU โดยศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ เปิดบริการวันจันทร์ – ศุกร์ ในเวลาราชการ ทั้งนี้ พิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong Learning Center) ชั้น 1 อาคารเอนกประสงค์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ