“รมช.มนัญญา” ปักธง ยกเลิกใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตภายในปี 62 ย้ำความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคต้องมาก่อน พร้อมสั่งกรมวิชาการเกษตรวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ปลูกกัญชาและพืชชนิดอื่นๆให้ได้คุณภาพเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 13, 2019 09:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตร และเป็นศูนย์กลางรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืชในระดับสากลบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เรื่องสุขภาพอนามัยของเกษตรกรและผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ จึงได้มอบแนวทางปฏิบัติงาน ดังนี้ (1)ให้ทบทวนการใช้สารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซส รวมถึงปุ๋ย ยา หรือสารเคมีชนิดอื่น ๆ ที่กำลังจะมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในการอนุญาต ขอให้ชะลอไว้ก่อน และตั้งเป้าหมายว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายในปี 2562 โดยต้องหายไปจากประเทศไทย พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรลดละการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค (2)ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์กัญชาที่จะปลูกให้ได้คุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้กลุ่มสหกรณ์เป็นผู้ปลูกและรับซื้อผลผลิตอย่างถูกต้อง (3) ขอให้เข้มงวดการตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันโรคพืชและแมลงที่จะเข้ามาแพร่ระบาดในไทย (4) ให้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ขอให้คำนึงถึงความต้องการของตลาด พร้อมทั้งใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดด้วย และ (5) ป้องปรามปุ๋ยปลอมด้วยการระบุบาร์โค้ด เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นปุ๋ยจริงหรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากสารเคมี ทั้งนี้ ฉลากยาอันตรายที่กำกับบนผลิตภัณฑ์สารเคมีเกษตรจะต้องมีตัวหนังสือที่ชัดเจน อ่านง่าย ไม่ตัวเล็กจนเกินไป โดยเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรในการเลือกใช้ปุ๋ยเพื่อการเกษตรอย่างปลอดภัยด้วย "ผลการวิจัยและพัฒนาของกรมวิชาการเกษตรจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ โดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน รวม 3 อย่างให้เป็นหนึ่งเดียว อย่าต่างคนต่างทำ โดยกรมวิชาการเกษตรควรมีข้อมูลว่า ขณะนี้ทางสมาชิกสหกรณ์ต้องการทำอะไร หรือปลูกพืชชนิดไหน แล้วจึงทำการวิเคราะห์วิจัยพันธุ์พืชชนิดนั้นเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้ตรงจุด" นางสาวมนัญญา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ