เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อ เรื่องความปรองดองของคนในชาติ จริยธรรมทางการเมือง และเรื่องที่ประชาชนจัดอันดับความสำคัญอยากให้ทุกฝ่ายนำเป็นวาระแห่งชาติ

ข่าวผลสำรวจ Monday April 30, 2012 07:56 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อ เรื่องความปรองดองของคนในชาติ จริยธรรมทางการเมือง และเรื่องที่ประชาชนจัดอันดับความสำคัญอยากให้ทุกฝ่ายนำเป็นวาระแห่งชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ ยโสธร มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาสและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,259 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24 — 28 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7

เมื่อถามว่าระหว่างการที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับ การออกกฎหมายปรองดองและนิรโทษกรรม อย่างไหนช่วยสร้างความปรองดองได้ดีกว่ากัน ผลสำรวจพบว่า ประชาชนเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.8 คิดว่าการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถสร้างความปรองดองได้ดีกว่า เพราะเป็นรูปธรรม รวดเร็ว เห็นชัด ไม่ขัดแย้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 26.0 คิดว่าไม่ได้ช่วยสร้างความปรองดองได้เลยไม่ว่าจะเป็นการเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม และการออกกฎหมายปรองดอง ร้อยละ 22.6 เห็นว่าช่วยสร้างความปรองดองได้ดีทั้งรดน้ำดำหัวและออกกฎหมายปรองดอง นิรโทษกรรม และมีเพียงร้อยละ 1.6 คิดว่า กฎหมายปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรมจะสร้างความปรองดองของคนในชาติได้ดีกว่า

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่ในชาติอยู่ในอารมณ์ที่อยากให้เกิดความรักความสามัคคี เกิดความสงบสุขขึ้นในบ้านเมือง ไม่อยากเห็นความขัดแย้งรุนแรงบานปลายอีกแล้ว แต่อาจมีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้เกิดความปรองดองขึ้นเพราะส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ “การสูญเสีย” ทั้งอำนาจและผลประโยชน์ไปถ้าประเทศชาติมีความสงบสุขอย่างแท้จริง และประชาชนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่ามีกลุ่มคนจ้องขัดขวางความปรองดองของคนในชาติอยู่จริง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.1 เชื่อว่ามีขบวนการขัดขวางความปรองดองของคนในชาติ แต่ร้อยละ 26.9 ไม่เชื่อว่ามี

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึงแนวทางการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ควรจะเน้นทางด้านใดมาก่อน ผลสำรวจพบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 35.2 ระบุด้านความเป็นธรรมทางสังคมก่อน โดยทุกฝ่ายต้องไม่เลือกปฏิบัติ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รองลงมาอันดับสองหรือร้อยละ 30.2 ระบุด้านสังคมต้องมาก่อน คือให้รณรงค์เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ กลุ่มขัดแย้งต่างๆ ได้พบปะพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ ลดความขัดแย้ง ลดอคติต่อกัน อันดับที่สามหรือร้อยละ 15.0 ระบุ ด้านการเมืองต้องมาก่อน โดยนักการเมืองทุกพรรค และสื่อมวลชน ลดการเสนอข่าวโต้ตอบกัน ลดทิฐิ ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ให้หันมาพูดจาภาษาดอกไม้ต่อกัน ช่วยกันแก้ปัญหาชาวบ้าน ในขณะที่ร้อยละ 14.2 ระบุด้านการพัฒนา ต้องมาก่อน ให้กระจายการพัฒนาอย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ทุกกลุ่มสี ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆ และมีเพียงร้อยละ 5.4 เท่านั้นที่ระบุด้านกฎหมายต้องมาก่อน โดยการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นธรรมมากขึ้น ออกกฎหมายนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามลำดับ

เมื่อถามเรื่องจริยธรรมทางการเมือง กรณีที่ ส.ส. กดบัตรโหวตแทนกันในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมทางการเมือง โดยร้อยละ 44.3 เสนอให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้กดบัตรแทนกันอีก ร้อยละ 25.9 ให้ตรวจสอบหาบุคคลที่กระทำความผิดดังกล่าวเพื่อให้ลาออก ร้อยละ 25.7 ให้ตรวจสอบหาบุคคลที่กระทำความผิดดังกล่าวเพื่อให้ออกมาขอโทษประชาชน และร้อยละ 4.1 ไม่ต้องทำอะไร ไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไป เป็นต้น

เมื่อขอให้ประชาชนจัดอันดับความสำคัญในเรื่องที่ขอให้ทุกฝ่ายยกขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 ระบุเรื่องค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง รองลงมาคือร้อยละ 67.1 ระบุเรื่องความปรองดองของคนในชาติ ร้อยละ 64.7 ระบุเรื่องการศึกษา ร้อยละ 59.7 ระบุเรื่องยาเสพติด ร้อยละ 57.3 ระบุเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 53.1 ระบุเรื่องจริยธรรมทางการเมือง และรองๆ ลงไปคือเรื่อง คุณธรรมของคนในสังคม เรื่องสุขภาพและภัยธรรมชาติ ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นห่วงเรื่องค่าครองชีพ ปัญหาปากท้องมากกว่าเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายสำหรับทิศทางการพัฒนาประเทศถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาในอดีตว่าต้องการให้ทุกคนในชาติช่วยกันปฏิรูป ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก โดยขอให้ทุกฝ่ายเอาจริงเอาจังต่อเนื่องทำให้ “ภาคประชาชน” เข้มแข็งมีส่วนร่วม ทำให้ทุกๆ เรื่องทั้ง เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครองเป็นเรื่องของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกชนชั้น ทางออกคือ

ประการแรก เสนอให้จัดตั้งและหนุนเสริมระบบเครือข่ายทางสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาชนในระดับพื้นที่ขึ้นเพื่อให้มีส่วน “ออกแบบ” ด้านความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีไมตรีจิตต่อกันและออกกฎระเบียบต่างๆ มารองรับหนุนเสริมความเข้มแข็งระดับชุมชนมากกว่าการให้กลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม “สั่งการ” โดยเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่และใช้ทรัพยากรของชาติหมดไปกับสิ่งที่ตนเองคิดทำโดยมองข้ามข้อท้วงติงของผู้อื่น

ประการที่สอง เสนอให้ปรับคณะรัฐมนตรีโดยให้โอกาสคนที่ “ทั้งเก่งและดี” คือมีผลงานช่วยเหลือชาวบ้านได้ในอดีตและเป็นคนดีไม่มีประวัติเคลือบแคลงสงสัยในสายตาของสาธารณชน รู้จักให้เกียรติผู้อื่นมาเป็นผู้มีอำนาจใช้ทรัพยากรของชาติในการพัฒนาประเทศ เพื่อทำให้ชาวบ้านสมหวังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ลดภาระรายจ่าย รู้สึกได้รับความเป็นธรรม และหันมาคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม คุณธรรมมากขึ้น

ประการที่สาม เสนอให้มีกิจกรรมเชื่อมความรัก ความสามัคคีของคนในชาติอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประชาชนทุกหมู่เหล่า ให้ลดความขัดแย้งทั้งที่เป็นข่าวลือ และเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น แกนนำฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.6 เป็นชาย ร้อยละ 51.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 36.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 67.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 25.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 7.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 25.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 11.4 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ และคณะ เข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม เป็นแนวทางสร้างความปรองดองของคนในชาติได้ดีกว่าการออก พ.ร.บ. ปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                ค่าร้อยละ
1          คิดว่าการเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม สามารถสร้างความปรองดองได้ดีกว่า เพราะเป็นรูปธรรม
           รวดเร็วเห็นชัด ไม่ขัดแย้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี                                              49.8
2          ไม่ได้ช่วยสร้างความปรองดองทั้งคู่                                                     26.0
3          ช่วยสร้างความปรองดองได้ดีทั้งคู่                                                      22.6
4          พ.ร.บ. ปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรม สร้างความปรองดองได้ดีกว่า                           1.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อว่ามีกลุ่มคนหรือขบวนการที่พยายามขัดขวางการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
ลำดับที่          ความเชื่อ                                       ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่ามีขบวนการขัดขวางความปรองดองของคนในชาติ            73.1
2          ไม่เชื่อว่ามี                                            26.9
          รวมทั้งสิ้น                                             100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุแนวทางการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ควรจะเน้นทางด้านใดมาก่อน
ลำดับที่          แนวทางการปรองดองของคนในชาติ                                                         ค่าร้อยละ
1          ด้านความเป็นธรรมทางสังคม การไม่เลือกปฏิบัติ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย                             35.2
2          ด้านสังคม โดยการรณรงค์ให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ กลุ่มขัดแย้งต่างๆ ได้พบปะพูดคุยเชิงสร้างสรรค์
           ลดความขัดแย้ง ลดอคติต่อกัน                                                                   30.2
3          ด้านการเมือง โดยขอให้นักการเมืองทุกพรรค และสื่อมวลชน ลดการเสนอข่าวโต้ตอบกัน ลดทิฐิ ลดเงื่อนไข
           ของความขัดแย้ง แต่ให้หันมาพูดจาภาษาดอกไม้ต่อกัน ช่วยกันแก้ปัญหาชาวบ้าน                                15.0
4          ด้านการพัฒนา กระจายการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ทุกพื้นที่ทุกกลุ่มสี ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น                      14.2
5          ด้านกฎหมาย โดยการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นธรรมมากขึ้น ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้รัฐธรรมนูญ           5.4
          รวมทั้งสิ้น                                                                                 100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อกรณีที่ ส.ส. กดบัตรโหวตแทนกันในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          เป็นเรื่องปกติทั่วไป                       23.2
2          เป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม                    76.8
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อกรณี ส.ส. กดบัตรโหวตแทนกันในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                ค่าร้อยละ
1          เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กดบัตรแทนกันอีก                          44.3
2          ตรวจสอบหาบุคคลที่กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อให้ลาออก                    25.9
3          ตรวจสอบหาบุคคลที่กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อให้ออกมาขอโทษประชาชน        25.7
4          ไม่ต้องทำอะไร ไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไป                            4.1
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัจจัยที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ประชาชนคนไทยทุกคน และทุกภาคส่วนในสังคมไทย ให้ความสำคัญ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง                         73.5
2          ความปรองดองของคนในชาติ                       67.1
3          การศึกษา                                     64.7
4          ยาเสพติด                                     59.7
5          ทุจริตคอรัปชั่น                                  57.3
6          จริยธรรมทางการเมือง                           53.1
7          คุณธรรมของคนในสังคม                           50.9
8          สุขภาพ                                       43.7
9          ภัยธรรมชาติ                                   42.7

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ