เอแบคโพลล์: ประเมินจุดอ่อนประลองจุดแข็งของสองพรรคการเมืองใหญ่ กับการเตรียมความพร้อมของบุคคลที่เหมาะสมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต

ข่าวผลสำรวจ Monday October 22, 2012 07:33 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินจุดอ่อนประลองจุดแข็งของสองพรรคการเมืองใหญ่ กับการเตรียมความพร้อมของบุคคลที่เหมาะสมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในการรับรู้ของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,073 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 14 — 20 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยในประเด็นต่างๆ พบว่า ในประเด็นของการเป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 ระบุพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นของการใส่ใจปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนพบว่ายังอยู่ในช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 คือ ร้อยละ 53.7 ระบุพรรคเพื่อไทย ส่วนร้อยละ 46.3 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นของความโดดเด่นในนโยบายสาธารณะ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 ระบุพรรคเพื่อไทย ส่วนร้อยละ 36.2 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของการแย่งชิงตำแหน่ง ขัดแย้งกันภายในพรรค พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ระบุพรรคเพื่อไทย ส่วนร้อยละ 31.5 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นของการเป็นที่วางใจได้ของสาธารณชน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.3 ระบุพรรคเพื่อไทย ส่วนร้อยละ 45.7 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นของการเอาแต่เล่นเกมการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.9 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 41.1 ระบุพรรคเพื่อไทย

ที่น่าใส่ใจคือ ในประเด็นของการมุ่งแย่งชิงอำนาจหวังลดความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองคู่แข่งจนเกินไป พบว่า พอๆ กัน คือร้อยละ 50.1 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 49.9 ระบุพรรคเพื่อไทย ในประเด็นของความรวดเร็วฉับไวตอบสนองความเดือดร้อนของสาธารณชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 ระบุพรรคเพื่อไทย ส่วนร้อยละ 33.3 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชนตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ พบว่า ก่ำกึ่งกันคือร้อยละ 49.7 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 50.3 ระบุพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ในประเด็นการเตรียมคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ของพรรคการเมือง พบว่า เกินครึ่งหรือ ร้อยละ 54.2 ระบุพรรคเพื่อไทย แต่ร้อยละ 45.8 ระบุพรรคประชาธิปัตย์

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่อยากเห็นพรรคการเมืองลงพื้นที่ไปทำร่วมกับชาวบ้านมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 45.4 อยากให้นักการเมืองของทั้งสองพรรคไปทดลองทำนา ดำนา หว่านข้าว ทำสวนทำไร่ เข้าสวนยางกับชาวบ้าน ในขณะที่รองลงมาคือร้อยละ 21.6 อยากให้สัมผัสชีวิตเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ร้อยละ 13.7 อยากให้ทดลองใช้บริการโรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลอำเภอ ร้อยละ 8.2 อยากให้เดินตลาดสด ร้อยละ 6.3 อยากให้เข้าวัดฟังธรรม บำเพ็ญกุศล นั่งสมาธิ และร้อยละ 4.8 อยากให้ทำอื่นๆ เช่น แจกผ้าห่ม ผิงไฟ รับลมหนาวกับชาวบ้าน เดินห้างสรรพสินค้า แก้ปัญหายาเสพติดร่วมกับชาวบ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่นับรวม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.7 คิดว่ายังไม่พร้อม แต่ร้อยละ 29.3 คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อม โดยในกลุ่มคนที่คิดว่ามีความพร้อมส่วนใหญ่หรือร้อยละ 42.8 ระบุนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองลงมาคือ ร้อยละ 35.1 ระบุนายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 19.9 ระบุนายชวน หลีกภัย และร้อยละ 2.2 ระบุอื่นๆ เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และนายเทพไท เสนพงศ์ เป็นต้น

แต่เมื่อสอบถามในส่วนของพรรคเพื่อไทยถึงความพร้อมของพรรคเพื่อไทยในการเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่นับรวม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอนาคต พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 46.8 คิดว่ามีความพร้อม ในขณะที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.2 คิดว่ายังไม่พร้อม โดยในกลุ่มที่คิดว่ามีความพร้อมส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.7 ระบุ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองลงมาคือร้อยละ 21.6 ระบุคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 15.5 ระบุ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 4.9 ระบุนายจาตุรนต์ ฉายแสง และร้อยละ 4.3 ระบุอื่นๆ เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นต้น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ความเป็นมาของผลโพลล์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า “ผู้นำต้องสร้างผู้นำไม่ใช่สร้างผู้ตาม” จึงวิจัยเพื่อให้พรรคการเมืองสร้างการรับรู้ของสาธารณชนถึงการเตรียมวางตัวคณะบุคคลไว้ในตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า “ถ้าไม่มีปัญหาอุปสรรค มันก็ยากที่จะมองเห็นความเป็นผู้นำเกิดขึ้นในตัวบุคคลได้” และถ้าบ้านเมืองไม่วุ่นวายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา มันก็คงยากที่จะเห็นปฏิกิริยาของสาธารณชนออกมาเช่นนี้ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองและพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อเสียงสะท้อนของสาธารณชนที่ไม่อยากเห็นการแย่งชิงอำนาจโจมตีคู่แข่งทางการเมืองจนเกินไปเพราะผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า “พอๆ กัน” ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการโจมตีมุ่งดิสเครดิตต่อกัน

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า แต่ที่สาธารณชนอยากเห็นคือ การแข่งขันกันในเชิงนโยบายสาธารณะที่พรรคเพื่อไทยกำลังมีความโดดเด่นในสายตาประชาชนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าต่อไปนี้พรรคประชาธิปัตย์สามารถเสนอนโยบายสาธารณะที่โดนใจชาวบ้านมากกว่าพรรคเพื่อไทยทั้งในด้านนโยบายภายในประเทศ นโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของสาธารณชนและนโยบายต่างประเทศสู่ชุมชนอาเซียน ได้อย่างดีผลสำรวจในอนาคตน่าจะแตกต่างไปจากการวิจัยครั้งนี้ได้

“ที่น่าพิจารณาคือ ชาวบ้านน่าจะเกิดความหวังต่อบทบาทสำคัญของพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันว่าจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมลงไปได้บ้าง แต่ที่ผ่านมาข้อมูลข่าวสารมักจะปรากฏให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาดต่างๆ หรือ “ตีให้แรง”ในนโยบายของพรรคเพื่อไทยแต่สาธารณชนอาจจะยังไม่รับทราบว่าทางออกเชิงนโยบายสาธารณะของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดีกว่าพรรคเพื่อไทยคืออะไร จึงเสนอแนะว่า ถ้าทุกฝ่ายทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าต่อไป ก็น่าจะใช้ระบบคุณธรรมความรู้ความสามารถแข่งขันชิงตำแหน่งภายในพรรคและหันมาประชันนโยบายสาธารณะกันระหว่างพรรคการเมือง โดย “หยุดสร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย” และหากพบความผิดพลาดใดๆ ก็ส่งต่อให้กระบวนการยุติธรรมแห่งรัฐดำเนินการไปตามระบบ เพราะสถาบันการเมืองมีไว้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งของคนในชาติมากกว่าและเพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกเกลียดและเบื่อหน่ายนักการเมือง” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 58.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 41.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 9.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน          ค่าร้อยละ
1          ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์                90.4
2          ติดตามบ้างไม่ทุกสัปดาห์                              9.6
          รวมทั้งสิ้น                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ จุดแข็ง กับจุดอ่อน ระหว่างพรรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์
   ลำดับที่                                จุดแข็ง และจุดอ่อน                ประชาธิปัตย์       เพื่อไทย       รวมทั้งสิ้น
     1      เป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง                                         36.6          63.4          100
     2      ใส่ใจปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชน                                    46.3          53.7          100
     3      โดดเด่นในนโยบายสาธารณะ                                         36.2          63.8          100
     4      แย่งชิงตำแหน่งขัดแย้งกันภายในพรรค                                   31.5          68.5          100
     5      เป็นที่วางใจได้ของสาธารณชน                                        45.7          54.3          100
     6      เอาแต่เล่นเกมการเมือง                                            58.9          41.1          100
     7      มุ่งแย่งชิงอำนาจหวังลดความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองคู่แข่งจนเกินไป         50.1          49.9          100
     8      รวดเร็วฉับไวตอบสนองความเดือดร้อนของสาธารณชน                       33.3          66.7          100
     9      เปิดโอกาสให้สาธารณชนตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ             49.7          50.3          100
     10     มีการเตรียมคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ของพรรค               45.8          54.2          100

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กิจกรรมที่อยากเห็นพรรคการเมืองลงพื้นที่ไปทำร่วมกับชาวบ้านมากที่สุด
ลำดับที่          กิจกรรม                                                                     ค่าร้อยละ
1          ทดลองทำนา ดำนา หว่านข้าว ทำสวนทำไร่ เข้าสวนยาง กับชาวบ้าน                              45.4
2          สัมผัสชีวิตเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ                                                       21.6
3          ทดลองใช้บริการโรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลอำเภอ                                         13.7
4          เดินตลาดสด                                                                         8.2
5          เข้าวัดฟังธรรม บำเพ็ญกุศล นั่งสมาธิ                                                       6.3
6          อื่นๆ ได้แก่ แจกผ้าห่ม ผิงไฟ รับลมหนาวกับชาวบ้าน เดินห้างสรรพสินค้า แก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น         4.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                          100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นที่มีต่อความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี
ถ้าไม่นับรวม นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อพรรคประชาธิปัตย์       ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีความพร้อม                        29.3
2          คิดว่ายังไม่พร้อม                         70.7
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ บุคคลในพรรคประชาธิปัตย์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ
(ค่าร้อยละของกลุ่มคนที่บอกว่ามีความพร้อม)
ลำดับที่          บุคคลสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์                                                  ค่าร้อยละ
1          นายอภิรักษ์  โกษะโยธิน                                                            42.8
2          นายกรณ์  จาติกวณิช                                                               35.1
3          นายชวน  หลีกภัย                                                                 19.9
4          อื่นๆ ได้แก่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์  บริพัตร  นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต นายเทพไท เสนพงศ์ เป็นต้น     2.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นที่มีต่อความพร้อมของพรรคเพื่อไทยในการเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี
ถ้าไม่นับรวม นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อพรรคเพื่อไทย           ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีความพร้อม                        46.8
2          คิดว่ายังไม่พร้อม                         53.2
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ บุคคลสำคัญในพรรคเพื่อไทยที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
(ค่าร้อยละของกลุ่มคนที่บอกว่ามีความพร้อม)
ลำดับที่          บุคคลสำคัญในพรรคเพื่อไทย                                                  ค่าร้อยละ
1          พล.ต.อ.เพรียวพันธ์  ดามาพงศ์                                                    53.7
2          คุณหญิง สุดารัตน์  เกยุราพันธุ์                                                      21.6
3          ร.ต.อ.ดร.เฉลิม  อยู่บำรุง                                                       15.5
4          นายจาตุรนต์  ฉายแสง                                                            4.9
5          อื่นๆ ได้แก่ นายณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ  นายจตุพร  พรหมพันธุ์ นายจารุพงศ์  เรืองสุวรรณ เป็นต้น        4.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ