อาเซียนและฮ่องกง สานสัมพันธ์เศรษฐกิจหน้าใหม่ในฐานะคู่ค้า FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 16, 2017 15:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีเศรษฐกิจของชาติสมาชิกอาเซียนและฮ่องกงได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีและความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกงแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ หลังจากทั้งสองฝ่ายประกาศความสำเร็จของการเจรจาเมื่อกันยายน ที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งกลุ่มอาเซียน โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงนามว่า ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง พร้อมด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนและนายเอ็ดเวิร์ด เยา รัฐมนตรีพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ได้ร่วมกันลงนามในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Free Trade Agreement: AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Investment Agreement: AHKIA) ซึ่งเป็นความตกลงลำดับที่ 6 ระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอก โดยความตกลงได้ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง ซึ่งจะสร้างประโยชน์กับทั้งอาเซียนและฮ่องกง โดยอาเซียนสามารถใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประตูสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน จากช่องทางที่ฮ่องกงและจีนได้ทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเองไว้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของฮ่องกงด้านการเงิน โลจิสติกส์และการให้บริการทางกฎหมาย ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคของฮ่องกง

นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์จากความตกลงดังกล่าวจากการที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคและประตูสู่จีนและตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยและฮ่องกงพร้อมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันโดยเฉพาะการเป็นประตูการค้าและการลงทุนสู่ภูมิภาคระหว่างกัน การยกระดับของการค้าบริการ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน และเขตเศรษฐกิจใหม่ (ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกว้างตุ้ง) หรือ Greater Bay Area ของฮ่องกง

ทั้งนี้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุน มีสาระสำคัญโดยสรุปได้ ดังนี้

1) การค้าสินค้า

ได้กำหนดกรอบการลดอัตราภาษีนำเข้า โดยแบ่งกลุ่มสินค้า แบ่งเป็นสินค้าปกติ (ลดภาษีเป็นศูนย์ภายใน 3 ปี และ 10 ปี) สินค้าอ่อนไหว (ลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 12 ปี) สินค้าอ่อนไหวสูง (ลดภาษีเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 ภายใน 14 ปี) และสินค้าไม่ลดภาษี โดยฮ่องกงจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงของอาเซียน ส่วนอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการที่ฮ่องกงยินยอมผูกพันภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากอาเซียนในอัตรา 0% ซึ่งสร้างความแน่นอนต่อการส่งออกไปยังฮ่องกงว่าฮ่องกงไม่สามารถขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอาเซียนได้ในอนาคต ทั้งนี้ ความตกลงได้กำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่รัดกุม ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคีสมาชิกของความตกลงนี้

2) การค้าบริการ

สมาชิกอาเซียนและฮ่องกงมีข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการแยกเป็นรายประเทศ โดยฮ่องกงจะเปิดตลาดการค้าบริการให้อาเซียนมากกว่าที่เปิดให้แก่ประเทศอื่นๆ ภายใต้ WTOเช่น อนุญาตให้ผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกเข้าไปลงทุนในฮ่องกงโดยถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 ในสาขาบริการต่าง ๆ จำนวนกว่าร้อยละ 90 ของสาขาบริการ และเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติมตามที่ไทยเรียกร้องในสาขาบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยผู้ให้บริการของภาคีสมาชิกสามารถถือหุ้นได้ร้อยละ 100 สำหรับการให้บริการโดยบุคคลธรรมดา

3) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

อาเซียนและฮ่องกงได้จัดทำแผนงาน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือใน 5 สาขา ได้แก่ (1) บริการวิชาชีพ (2) พิธีการศุลกากร (3) การอำนวยความสะดวกทางการค้า/ โลจิสติกส์ (4) SMEs และ (5) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยฮ่องกงได้จัดสรรให้เงินสนับสนุน จำนวน 25 ล้านเหรียญฮ่องกง สำหรับโครงการความร่วมมือในระยะเวลา 5 ปี หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ

4) ด้านการลงทุน

จะครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุนและการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก คือ (1) การเปิดตลาด อาเซียนและฮ่องกงตกลงจะพิจารณาประเด็นของการเปิดตลาดด้านการลงทุนภายในเวลา 1 ปีหลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว (2) การคุ้มครองการลงทุนให้แก่นักลงทุนของภาคีหลังจากที่ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจแล้วในอีกภาคีหนึ่ง รวมถึงการปฏิบัติต่อการลงทุนด้วยความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันและการให้ความคุ้มครองและความมั่นคงอย่างครบถ้วน และ (3) การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน เช่น การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การทำให้กระบวนการสำหรับการยื่นขอและการอนุมัติการลงทุน ง่ายขึ้น การส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุน และการจัดตั้งศูนย์การลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เป็นต้น

ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว ผลไม้สด สินค้านำเข้าจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และผ้าผืนส่วนการลงทุนของฮ่องกงในไทย เมื่อปี 2559 มีโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 32 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 8.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวฮ่องกงกว่า 750,000 คน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

12 พฤศจิกายน 2560

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ