กรุงเทพโพลล์: “แรงงานต่างด้าว ปัญหาและความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย”

ข่าวผลสำรวจ Friday March 30, 2012 10:19 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 72.1% เชื่อหากรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวออกมา แนวโน้มปัญหาแรงงานต่างด้าวในสังคมไทยจะรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีถัดจากนี้ไป

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 68 คน เรื่อง “แรงงานต่างด้าว ปัญหาและความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 22 — 29 มี.ค. 2555 ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 73.5 เห็นว่าแรงงานต่างด้าว “มีความสำคัญมาก” ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการเปิดเสรีแรงงานในประเทศเศรษฐกิจอาเซียน นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 67.6 เชื่อว่า “ยังไม่มีความพร้อม” โดยให้เหตุผลว่า แม้ว่าการเปิดเสรีแรงงานในอาเซียนไม่ใช่การเปิดเสรีทั้งหมดแต่เป็นการเปิดเสรีแรงงานที่มีทักษะใน 7 สาขาวิชาชีพ แต่ปัจจุบันนี้แรงงานของไทยก็ยังมีปัญหาด้านทักษะที่อยู่ในระดับต่ำ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านภาษา ฝีมือแรงงานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา รวมถึงมีความอดทนต่ำ ในส่วนของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ และแบ่งแยกทักษะของแรงงานเพื่อให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม นอกจากนี้ กฏหมายที่ใช้ควบคุมแรงงานต่างด้าวของไทยยังไม่รัดกุมและเข้มงวดพอ

ทั้งนี้เมื่อถามว่า รัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการ/จัดระเบียบ แรงงานต่างด้าวมากน้อยเพียงใด นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 52.9 มองว่า “ให้ความสำคัญน้อย” รองลงมาร้อยละ 22.1 มองว่า “ให้ความสำคัญน้อยที่สุด”

เมื่อถามถึงความเห็นที่มีต่อประเด็น ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยใดมากที่สุด ร้อยละ 94.1 เห็นว่าเป็นเพราะไม่มีการจัดระบบ ระเบียบ แรงงานต่างด้าว รวมถึงข้าราชการของไทยที่ไม่เข้มงวด ไม่มีการคัดกรองแรงงาน หรือปล่อยให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

สุดท้ายเมื่อถามว่าหากรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวออกมา แนวโน้มปัญหาแรงงานต่างด้าวในสังคมไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไรในช่วง 2-3 ปีถัดจากนี้ไป ร้อยละ 72.1 เชื่อว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่า รัฐบาลไทยควรมีนโยบายที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและลดปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงงานต่างด้าว ด้วยการ

          1.          จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว  โดยในแต่ละปีควรมีจำนวนแรงงานที่แน่นอน  มีการจัดชั้นแรงงานตามทักษะ  มีการอบรมให้กับแรงงานต่างด้าว  ในส่วนของนายจ้างก็ต้องมีการปฎิบัติตามกฎหมายที่จริงจัง  ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว
          2.          เคร่งครัดการปฎิบัติตามกฏหมาย  และกำหนดโทษให้สูงขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง  นอกจากนี้จะต้องมีการปราบปรามยาเสพติดที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งปัญหายาเสพติดจะนำปัญหาอื่นๆ ตามมา
          3.          บูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐ  ผู้ประกอบการ  ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว  รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาสู่ทางออกในการแก้ปัญหา

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. ความคิดเห็นต่อประเด็น แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
          ร้อยละ  10.3          มีความสำคัญมากที่สุด
          ร้อยละ  73.5          มีความสำคัญมาก
          ร้อยละ  7.4          มีความสำคัญน้อย
          ร้อยละ          4.4          มีความสำคัญน้อยที่สุด
          ร้อยละ  4.4          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

2.  ความเห็นต่อประเด็น ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการเปิดเสรีแรงงานในประเทศเศรษฐกิจอาเซียนในปัจจุบัน
          ร้อยละ 8.8             มีความพร้อมแล้ว
          ร้อยละ  67.6           ยังไม่มีความพร้อม

โดยให้เหตุผลว่า

-การเปิดเสรีในอาเซียนไม่ใช่การเปิดเสรีทั้งหมดแต่เป็นการเปิดเสรีแรงงานที่มีทักษะใน 7 สาขาวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันนี้แรงงานของไทยยังมีปัญหาด้านทักษะที่อยู่ในระดับต่ำไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษา ฝีมือแรงงานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา รวมถึงมีความอดทนต่ำ

-ในส่วนของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ และแบ่งแยกทักษะของแรงงานเพื่อให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม นอกจากนี้ กฏหมายที่ใช้ควบคุมแรงงานต่างด้าวของไทยยังไม่รัดกุมและเข้มงวดพอ

-นโยบายของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฎิบัติไม่จริงจัง จึงทำให้ปัญหาแรงงานต่างด้าวยังคงมีอยู่

          ร้อยละ  23.6          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

3. ความเห็นต่อประเด็น  รัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการ/จัดระเบียบ แรงงานต่างด้าวมากน้อยเพียงใด
          ร้อยละ   0.0          ให้ความสำคัญมากที่สุด
          ร้อยละ  10.3          ให้ความสำคัญมาก
          ร้อยละ  52.9          ให้ความสำคัญน้อย
          ร้อยละ  22.1          ให้ความสำคัญน้อยที่สุด
          ร้อยละ  14.7          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

4.  ความเห็นต่อประเด็น  ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากปัจจัยใดมากที่สุด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
          ร้อยละ            33.8          นายจ้างที่ไม่มีธรรมาภิบาล
          ร้อยละ            50.0          ตัวแรงงานต่างด้าวเอง (มองในแง่นิสัย หรือพฤติกรรมส่วนบุคคล)
          ร้อยละ            94.1          ไม่มีการจัดระบบ ระเบียบ  แรงงานต่างด้าว  รวมถึงข้าราชการของไทยที่ไม่เข้มงวด                                ไม่มีการคัดกรองแรงงาน  หรือปล่อยให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
          ร้อยละ            39.7          บทกำหนดโทษของกฎหมายไทยยังอ่อน
          ร้อยละ            16.2          คนไทย/สังคมไทยเป็นตัวบีบคั้นให้แรงงานต่างด้าวกระทำผิด
          ร้อยละ             1.5          อื่นๆ คือ ยาเสพติด  เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น

5. หากรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวออกมา  แนวโน้มปัญหาแรงงานต่างด้าวในสังคมไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไรในช่วง 2-3 ปีถัดจากนี้ไป
          ร้อยละ            72.1          ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะรุนแรงขึ้น
          ร้อยละ             7.4          ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะลดน้อยลง
          ร้อยละ            16.2          ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะเหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง
          ร้อยละ             4.3          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

6.  รัฐบาลไทยควรมีนโยบายอย่างไรที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง  ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและลดปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงงานต่างด้าว (ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม อาทิ อาชญากรรมยาเสพติด  ปัญหาสาธารณสุข อาทิ การนำเชื้อโรคเข้าประเทศ  รวมถึงปัญหาความมั่นคง)

1. จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยในแต่ละปีควรมีจำนวนแรงงานที่แน่นอน มีการจัดชั้นแรงงานตามทักษะ มีการอบรมให้กับแรงงานต่างด้าว ในส่วนของนายจ้างก็ต้องมีการปฎิบัติตามกฎหมายที่จริงจัง ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว

2. เคร่งครัดการปฎิบัติตามกฏหมาย และกำหนดโทษให้สูงขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะต้องมีการปราบปรามยาเสพติดที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งปัญหายาเสพติดจะนำปัญหาอื่นๆ ตามมา

3. บูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐ ผู้ประกอบการ ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาซึ่งทางออกในการแก้ปัญหา

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ

นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

รายละเอียดในการสำรวจ วัตถุประสงค์

1. เพื่อสะท้อนความเห็นในประเด็นด้านเศรษฐกิจจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโดยตรงไปยังสาธารณชนโดยผ่านช่องทางสื่อมวลชน

2. เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการและวางแผนงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 32 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัททริสเรทติ้ง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

รวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :  22 — 29 มีนาคม 2555

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  30 มีนาคม 2555

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

                                        จำนวน          ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
           หน่วยงานภาครัฐ                    24           35.3
           หน่วยงานภาคเอกชน                 25           36.8
           สถาบันการศึกษา                    19           27.9
          รวม                              68          100.0

เพศ
            ชาย                            33           48.5
            หญิง                            35           51.5
          รวม                              68          100.0

อายุ
            26 ปี — 35 ปี                    22           32.4
            36 ปี — 45 ปี                    20           29.4
            46 ปีขึ้นไป                       26           38.2
          รวม                              66          100.0

การศึกษา
             ปริญญาตรี                        3            4.4
             ปริญญาโท                       52           76.5
             ปริญญาเอก                      13           19.1
          รวม                              68          100.0

ประสบการณ์ทำงานรวม
              1-5  ปี                        7           10.3
              6-10 ปี                       19           27.9
              11-15 ปี                      10           14.7
              16-20 ปี                       7           10.3
              ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                25           36.8
          รวม                              68          100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ