ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2016 15:38 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 116.1 เทียบกับเดือนตุลาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.6 ในอัตราที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญจากการลดลงของดัชนีราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 5.0 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.2 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.2 และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2559 ปรับลดลงร้อยละ 0.5 (MoM) สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.6 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีต ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ) หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.1 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 (ยางมะตอย) สำหรับหมวดอื่น ๆ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดที่มีผลกระทบให้ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ผลกระทบ -1.3) หมวดซีเมนต์ (ผลกระทบ -0.6) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (ผลกระทบ -0.2) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้(ผลกระทบ -0.1) สำหรับหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ผลกระทบ 0.7) ทำให้ดัชนีราคาลดลงในอัตราที่ชะลอตัว และหมวดวัสดุฉาบผิว (ผลกระทบ 0.1)

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559 เทียบกับเดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว การค้าวัสดุก่อสร้างซบเซา ผู้ประกอบการลดราคาเพื่อจูงใจผู้ซื้อ สินค้าวัสดุก่อสร้างสำคัญที่ปรับราคาลดลง เช่น เหล็กจากที่ปรับสูงขึ้นช่วงสั้น ๆ เพียง 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน) กลับมาปรับลดราคาตามราคาตลาดโลกที่ลดลงจากการค้าเหล็กในประเทศจีนชะลอตัว เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวจากวันชาติของจีน และราคาบิลเล็ตอ่อนตัวลง ประกอบกับความต้องการใช้ชะลอตัว สำหรับการจำหน่ายปูนซิเมนต์ ปริมาณปูนมีมากเกินความต้องการ และสภาพอากาศชื้นไม่ดีต่อการเก็บสต๊อกปูน ผู้ประกอบการจึงลดราคาเพื่อระบายสินค้า และราคาปิโตรเลียมที่ต่ำทำให้ยางมะตอยราคาลดลง แนวโน้มการก่อสร้างคาดว่าจะดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเมื่อผ่านช่วงฤดูฝนการก่อสร้างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้องวัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 131 รายการ

1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 116.1 (ปี 2548 เท่ากับ 100 และเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 116.7)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559

2.1 เทียบกับเดือนกันยายน 2559 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวด

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559 เทียบกับเดือนกันยายน 2559 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.5 โดยได้รับปัจจัยจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.6 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ) ตามการลดลงของราคาเหล็กในตลาดโลกและราคาบิลเล็ตที่อ่อนตัวลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.1 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) ปริมาณมีมากเกินความต้องการ สภาพอากาศชื้นไม่ดีต่อการเก็บสต๊อกปูน ผู้ประกอบการจึงลดราคาจำหน่ายเพื่อระบายสินค้า และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 (ยางมะตอย) ลดลงตามราคาปิโตรเลียม

2.2 เทียบกับเดือนตุลาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวด

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2559 เทียบกับเดือนตุลาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดวัสดุฉาบผิว หมวดกระเบื้อง และหมวดสุขภัณฑ์ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 1.1 (วงกบประตู-หน้าต่าง บานหน้าต่าง) เนื่องจากความนิยมใช้ไม้ลดลงโดยใช้อลูมิเนียมและกระจกแทน หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 5.0 (ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์-ผสม) เนื่องจากมีปริมาณปูนมากเกินความต้องการ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.2 (เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก-อัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา) ลดลงตามราคาซีเมนต์ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.2 (สายไฟฟ้า สายเคเบิล) วัตถุดิบคือเม็ดพลาสติกราคาลดลงตามราคาปิโตรเลียม หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.8 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียมเส้น วงกบอลูมิเนียม ยางมะตอย) ความนิยมใช้น้อยลง และหมวดที่ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.5 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู) แม้ว่าราคาเหล็กเดือนนี้ลดลงแต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนที่ราคาต่ำมาก ทำให้ดัชนีราคาเป็นบวก

2.3 เทียบกับเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 3.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เทียบกับเดือนมกราคม-ตุลาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยจากการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดกระเบื้อง หมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง และหมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.3 หมวดดัชนีราคาที่ลดลงมาก ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากมีปริมาณปูนเข้าสู่ตลาดมาก หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.8 เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกต่ำและราคาวัตถุดิบลดลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 2.2 ลดลงราคาวัตถุดิบคือเม็ดพลาสติกที่ลดลงตามราคาปิโตรเลียม หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.5 จากการลดลงของราคา อิฐโปร่ง อิฐมอญ ที่ความนิยมใช้ลดลง และยางมะตอยลดลงตามราคาปิโตรเลียม

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ