แนวทาง นโยบาย และมาตรการการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 3, 2010 11:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทาง นโยบาย และมาตรการการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในขณะนั้น เสนอ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ประธานกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติรายงานว่าในคราวประชุม กภช.ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนและประสานงานในบริบทของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกำหนดให้เป็นการบริหารแบบบูรณาการภายใต้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและบริหารอย่างประหยัดโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเตือนภัยเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในอันที่จะรักษาความปลอดภัยและปกป้องชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง นโยบาย และมาตรการ ดังนี้

1. แนวทาง

การบริหารระบบการเตือนภัยแห่งชาติเป็นการบริหารแบบบูรณาการภายใต้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอันที่จะรักษาความปลอดภัยและการปกป้องชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการปกป้องทรัพยากรและปัจจัยการผลิตของชาติหรือของประชาชน ในขณะเดียวกันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย

2. นโยบาย

2.1 การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติต้องดำเนินการให้พร้อมตั้งแต่ในภาวะปกติ โดยเฉพาะการเตือนภัยล่วงหน้าต้องดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อสัมฤทธิผลของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัยธรรมชาติ

2.2 การแจ้งภัยเพื่อการเฝ้าระวังและการเตือนภัยเพื่อผลในการปฏิบัติควรดำเนินการแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบโดยนำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยหรือเตือนภัย พัฒนาระบบฐานข้อมูลและ ติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่ที่มีความเปราะบางหรือเสี่ยงต่อภัยอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก

2.3 การบริหารระบบการเตือนภัยควรมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชนตลอดจนให้ความรู้เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อภัยพิบัติ

2.4 การบริหารจัดการระบบสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการระบบการเตือนภัยและการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะต้องจัดให้มีระบบสื่อสารหลักและสื่อสารสำรองให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์

2.5 การบริหารระบบการเตือนภัยให้คำนึงถึงการนำทรัพยากรที่มีอยู่หรือผลการดำเนินงานตลอดจนเทคโนโลยีที่แต่ละหน่วยงานกำลังพัฒนามาบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการบริหารระบบการเตือนภัย โดยให้ กภช.เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการประหยัดและไม่เกิดความซ้ำซ้อน

2.6 ระบบการเตือนภัยเป็นผลส่วนหนึ่งของการบริหารเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศเพื่อขอรับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่จำเป็น

3. มาตรการ

3.1 ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ทั้งด้านการบริหารการประสานงานและการงบประมาณเพื่อรองรับภารกิจที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทั้งในทางลึกและทางกว้าง รวมถึงปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบเพื่อการบริหารงาน

3.2 ประสานงานเพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบด้านภัยพิบัติจากหน่วยงานต่าง ๆ ประมวลเป็นฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเตือนภัยและการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานอื่น

3.3 บริหารด้านการเตือนภัยโดยคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลกซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาด้วย การมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศและ เวทีภูมิภาคในฐานะต่างๆ แล้วกรณีจะยังประโยชน์ในการพัฒนาระบบเตือนภัยได้ส่วนหนึ่ง

3.4 จะต้องจัดเตรียมระบบสื่อสารโทรคมนาคมหลักและสำรองเพื่อรองรับให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งในยามปกติและกรณีที่เกิดภัยพิบัติให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ โดยใช้ทรัพยากรสื่อสารที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการและคู่มือให้ชัดเจน เพื่อการนี้ควรจัดให้มีศูนย์อำนวยการด้านการสื่อสารสารสนเทศขึ้นเป็นศูนย์รองรับความต้องการในการกำกับหรือควบคุมสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ

3.5 จัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการแจ้งเตือนภัยระบบสื่อสารในการแจ้งเตือนภัยและในการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชน เพื่อช่วยสนับสนุนระบบสื่อสารในการเตือนภัยและช่วยผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

3.6 จัดให้มีการประชาสัมพันธ์งานด้านการเตือนภัยตลอดจนให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและองค์กรเอกชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงตามแต่กรณีของภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ตลอดจนให้ความสำคัญด้านความร่วมมือของประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินงาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ