ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday August 23, 2016 17:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และรับทราบแผนการเสนอร่างอนุบัญญัติที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้อำนาจอธิบดีในการออกระเบียบ การตีความประเภทสินค้าและบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงกำหนดให้อำนาจอธิบดีในการเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตเข้าไปในสถานที่ใด ๆ เพื่อทำการตรวจค้น ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีที่จะต้องเสียได้ทั่วราชอาณาจักร

2. กำหนดให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ หรือผู้อื่นที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี มีหน้าที่เสียภาษีตามมูลค่า หรือตามปริมาณของสินค้าหรือบริการ หรือทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณของสินค้าหรือบริการนั้น ตามอัตราที่ระบุไว้ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รวมทั้งมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนสรรพสามิตตามแบบที่อธิบดีกำหนด

3. กำหนดระยะเวลา วิธีการ และสถานที่ในการยื่นแบบรายการภาษี และการชำระภาษีในกรณีต่าง ๆ

4. กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีในการประกาศสินค้าที่เสียภาษีโดยการใช้แสตมป์สรรพสามิตหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และการขออนุญาตผลิตและนำเข้าเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีจดทะเบียน

5. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าสามารถวางประกันค่าภาษีได้ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

6. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่

7. กำหนดให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศลดอัตราหรือยกเว้นภาษีตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้น การลดหย่อน การลดอัตรา และการคืนภาษีในกรณีอื่น ๆ

8. กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน สถานประกอบการหรือสถานบริการ เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมให้การเป็นไปตามกฎหมาย ค้นสถานที่หรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิด หรือมีสินค้าที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีซุกซ่อนอยู่ มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งบัญชี เอกสาร หลักฐาน หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมาประกอบการพิจารณาได้ รวมถึงกำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดหรืออายัดสินค้า บัญชี เอกสาร ยานพาหนะหรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้เป็นหลักฐานในการสืบสวน สอบสวน และการดำเนินคดี

9. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบสำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีมีอำนาจเปรียบเทียบสำหรับความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน โดยเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวัน ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีได้โดยมิต้องขออำนาจศาลเพื่อชำระภาษีที่ค้าง

10. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเบี้ยปรับในกรณีที่มิได้ยื่นแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา กรณีที่ได้ยื่นแบบรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไป

11. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้มีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับสินค้าหรือบริการ ตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแต่ไม่เกินร้อยละสิบของภาษี โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานสรรพสามิตส่งมอบเงินภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้นดังกล่าวให้แก่กระทรวงมหาดไทย โดยหักค่าใช้จ่ายไว้ร้อยละห้าของเงินภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้น

12. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง การนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร การขายสุรา การเพาะปลูกต้นยาสูบ การซื้อใบยาแห้งจากผู้บ่มใบยา การผลิตยาสูบ การนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งใบยา ยาอัด หรือยาสูบ การขายครอบครองยาสูบ การผลิตไพ่ การนำไพ่เข้ามาในราชอาณาจักร และการขายไพ่

13. กำหนดความผิดและโทษสำหรับการกระทำความผิดหรือการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายในกรณีต่าง ๆ รวมถึงกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ สินค้าหรือวัตถุอื่นใดซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เป็นความผิด และกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล

14. กำหนดให้กฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าการดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนั้นจะเสร็จสิ้นไป รวมถึงกำหนดให้ใบทะเบียนสรรพสามิตและใบอนุญาตเดิมให้คงใช้ได้ต่อไปอีกหกเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ หรือผู้ที่ต้องขอรับใบอนุญาต ยื่นคำขอจดทะเบียนสรรพสามิตหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

15. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมคลังสินค้าทัณฑ์บนรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ค่าธรรมเนียมการควบคุมการผลิตเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต

16. กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่าหรือตามปริมาณของสินค้าหรือบริการ เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 สิงหาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ