ร่างพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday September 20, 2016 15:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรี (ในคราวประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559) และความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. มอบให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปดำเนินการตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) ตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. แล้วให้แจ้งผลการดำเนินการไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

3. รับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติฯ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเรียกโดยย่อว่า “นปท.” โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน องค์ประกอบของ นปท. ประกอบด้วย รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และเสนาธิการทหารเรือ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และมาตรการในการรักษาผลประโยชน์ ของชาติทางทะเล การวางนโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ ศรชล. และหน่วยงานทางทะเล เป็นต้น

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเรียกโดยย่อว่า “ทจชล.” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง นปท. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการทางทะเล ด้านกฎหมาย ด้านการทหารเรือ หรือด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มีหน้าที่ให้คำปรึกษาข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และมาตรการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือความเห็นทางวิชาการแก่หน่วยงานรัฐ รวมทั้งการจัดการเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น

3. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ทจชล.” มีหน้าที่สำรวจ ศึกษาและวิเคราะห์เรื่องที่จะต้องเสนอให้ ทจชล. พิจารณา และรับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการให้แก่ ทจชล. เป็นต้น

4. กำหนดให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเรียกโดยย่อว่า “ศรชล.”มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศรชล. ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นรองผู้อำนวยการและเสนาธิการทหารเรือ เป็นเลขาธิการ และให้อำนาจผู้อำนวยการ ศรชล. ในการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อประโยชน์ในการอำนวยการและประสานการปฏิบัติของ ศรชล. และกำหนดให้ ศรชล. มีหน้าที่วางแผน อำนวยการประสานงาน สั่งการ ติดตาม ตรวจสอบประเมินภัยคุกคาม และสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจด้านการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ รวมถึงเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น

5. กำหนดให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาคเรียกโดยย่อว่า “ศรชล.ภาค” โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือภาค เป็นผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาคและจังหวัดชายทะเลตามที่ ผู้อำนวยการ ศรชล. มอบหมายและผู้อำนวยการ ศรชล. อาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา ศรชล.ภาค เพื่อให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือ ศรชล.ภาค และกำหนดให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “ศรชล.จังหวัด” ในจังหวัดชายทะเลขึ้นตรงต่อ ศรชล.ภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัด มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดชายทะเล

6. การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในภาวะปกติกรณีทั่วไปให้เป็นไปตามกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตอำนาจตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ กรณีเกินขีดความสามารถของหน่วยงานทางทะเล หรือไม่มีหน่วยงานของรัฐใดรับผิดชอบ หรือต้องมีการบูรณาการในการปฏิบัติงาน ศรชล. จะเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา กำกับดูแล และอำนวยการในการจัดการหรือแก้ไขปัญหาโดยบูรณาการขีดความสามารถของหน่วยงานทางทะเล ในภาวะไม่ปกติ ในกรณีที่ปรากฏสถานการณ์ใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือกิจกรรมทางทะเลอย่างกว้างขวาง หรือรุนแรง คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้ ศรชล. เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชากำกับดูแล ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขบรรเทาเหตุในพื้นที่และเวลาที่กำหนด โดยให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้ทราบ และเมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลงก็ให้ประกาศสิ้นสุดภารกิจของ ศรชล. และรายงาน นปท. และคณะรัฐมนตรีทราบตามลำดับต่อไป โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่ที่กำหนด อาจได้รับสิทธิและค่าตอบแทนพิเศษตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ผู้ใดเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ พิการหรือสูญเสียอวัยวะอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่มีกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

7. กำหนดโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ทจชล. ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งในภาวะไม่ปกติ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณเขตทางทะเลหรือทางน้ำอื่น ๆ ตลอดจนพื้นที่ทางบกหรือสถานที่ที่กำหนดให้มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีหากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประมงหรือสิ่งแวดล้อมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กันยายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ