การเสนอพระธาตุพนม เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

ข่าวการเมือง Tuesday January 24, 2017 19:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอพระธาตุพนม ภายใต้ชื่อ PHRA THAT PHANOM, ITS RELATED HISTORIC BUILDING AND ASSOCIATED LANDSCAPE เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

2. เห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ลงนามในหนังสือถึงศูนย์มรดกโลก เพื่อนำเสนอพระธาตุพนมภายใต้ชื่อ PHRA THAT PHANOM, ITS RELATED HISTORIC BUILDING AND ASSOCIATED LANDSCAPE เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. เอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินการจัดทำเอกสารเสนอแหล่งเพื่อขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) และจัดส่งเอกสารทั้งในรูปแบบเอกสารและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ โดยในปี 2560 คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดให้มีการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 2-12 กรกฎาคม 2560 ณ เมือง KarKow สาธารณรัฐโปแลนด์

2. จังหวัดนครพนมได้เสนอเอกสารการเสนอพระธาตุพนมเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เห็นชอบให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเพื่อพิจารณา

3. เอกสารนำเสนอพระธาตุพนม ภายใต้ชื่อ PHRA THAT PHANOM, ITS RELATED HISTORIC BUILDING AND ASSOCIATED LANDSCAPE มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

(1) พระธาตุพนม ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง มีระยะห่างประมาณ 600 เมตร เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง

(2) เดิมพระธาตุพนมก่อสร้างด้วยอิฐเป็นตารางสี่เหลี่ยมมีการแกะสลักคล้ายศิลปะจามหรือเขมรโบราณ และมีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการพังทลายลงเมื่อปี พ.ศ. 2518 พบสิ่งของมีค่าจำนวนมากภายในองค์พระธาตุ จากการตรวจสอบค่าอายุอิฐจากห้องด้านในพบว่ามีอายุประมาณคริสต์ ศักราชที่ 7-8

(3) พระธาตุพนมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. 2478 โดยกรมศิลปากร เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องภายใต้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับการประกาศขอบเขตโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2522 ครอบคลุมพื้นที่ 17 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา

4. คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลในการนำเสนอ จำนวน 3 เกณฑ์ ดังนี้

(1) เกณฑ์ข้อที่ 1 เป็นตัวแทนที่แสดงถึงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ : พระธาตุพนมมีอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นศิลปะไทยอีสาน – ลาวล้านช้าง และได้มีการบูรณะในแนวทางที่รักษาอัตลักษณ์นี้ไว้มาเป็นระยะ ๆ จนถึงปี พ.ศ. 2518 เมื่อพระธาตุพนมได้ถูกลมมรสุมพังทลาย กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงามตามแบบเดิม

(2) เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนา การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านั้นเกิดขึ้น ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดของโลก : โดยเป็นตัวแทนของการแลกเปลี่ยนคุณค่าทางความเชื่อและวัฒนธรรมของประชาชนในเรื่องการเคารพบูชาพระสถูปของบุคคลที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่แพร่มาจากประเทศอินเดียและฮินดูจนถึงสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธและได้แพร่มาสู่ตะวันออกเฉียงใต้หรือที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ

(3) เกณฑ์ข้อที่ 6 ความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ โดยพระธาตุพนมมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน

5. การเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ พุทธสถานสาญจี สาธารณรัฐอินเดีย อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิหารแห่งโคโลญจ์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ