ตลาดน้ำผลไม้ในไนจีเรีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 11, 2009 13:31 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

แม้ที่ผ่านมาไนจีเรียเป็นตลาดน้ำผลไม้ที่ผู้ส่งออกไทยยังให้ความสนใจไม่มากนัก เห็นได้จากในแต่ละปีมูลค่าส่งออกน้ำผลไม้ไทยไปไนจีเรีย (ซึ่งทั้งหมดเป็นน้ำสับปะรด) มีเพียง 1-3 แสนดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 0.1 ของมูลค่าส่งออกน้ำผลไม้ทั้งหมดของไทย แต่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในหลายประเทศลดลง โดยเฉพาะในตลาดส่งออกน้ำผลไม้ 3 อันดับแรกของไทย คือ EU สหรัฐฯ และญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกน้ำผลไม้ทั้งหมดของไทย การหันไปขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ ไนจีเรีย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ส่งออกน้ำผลไม้ไทยไม่ควรมองข้าม

ไนจีเรียนับเป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาด้วยจำนวนประชากรมากถึงเกือบ 150 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในทวีปแอฟริกาแล้วปริมาณการบริโภคน้ำผลไม้ในไนจีเรียยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี จาก 200 ล้านลิตรในปี 2545 เป็น 320 ล้านลิตรในปี 2550 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนชนชั้นกลางชาวไนจีเรียซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการซื้อน้ำผลไม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับชาวไนจีเรียหันมาตระหนักถึงประโยชน์ของน้ำผลไม้ ที่มีต่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในไนจีเรียที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้านอาหารจานด่วนซึ่งมีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการใช้น้ำผลไม้จากกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น

สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดน้ำผลไม้ของไนจีเรีย มีดังนี้

  • ชนิดของน้ำผลไม้ : น้ำผลไม้ที่วางจำหน่ายในไนจีเรียมีส่วนผสมของน้ำผลไม้ตั้งแต่ร้อยละ 5-100 ของปริมาณส่วนผสมทั้งหมด แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ Fruit Drinks หมายถึง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้ร้อยละ 5-25 ของปริมาณส่วนผสมทั้งหมด Nectar หมายถึง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้ร้อยละ 25-50 และ Fruit Juice หมายถึง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้มากกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ ผู้ผลิตน้ำผลไม้ในไนจีเรียส่วนใหญ่นิยมผลิตน้ำผลไม้แบบ Fruit Drinks และ Nectar ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถซื้อได้ง่ายเนื่องจากราคาถูกกว่า
Fruit Juice
  • รสนิยม : น้ำผลไม้ที่ชาวไนจีเรียนิยม คือ น้ำส้ม (ร้อยละ 40 ของปริมาณการบริโภคน้ำผลไม้ทั้งหมดของไนจีเรีย) น้ำสับปะรด (ร้อยละ 25) น้ำผลไม้ผสม (ร้อยละ 20) น้ำแอปเปิล (ร้อยละ 10) และน้ำผลไม้อื่นๆ อาทิ น้ำองุ่น และน้ำมะม่วง (ร้อยละ 5)
  • ช่องทางจำหน่าย : ตลาดแบบดั้งเดิม หรือ กลุ่มขายสินค้าแผงลอยในพื้นที่เปิดขนาดใหญ่ (ร้อยละ 60) ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 20) โรงแรมและร้านอาหาร (ร้อยละ 15) และอื่นๆ (ร้อยละ 5)
  • น้ำผลไม้นำเข้า : ไนจีเรียนำเข้าน้ำผลไม้เข้มข้นเป็นสำคัญ เพื่อใช้ผลิตน้ำผลไม้จำหน่ายในประเทศซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลไนจีเรียมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตน้ำผลไม้ ด้วยการห้ามนำเข้าน้ำผลไม้เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง (Consumer-Pack) ตั้งแต่ปี 2545 ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศหันมาขยายการลงทุนผลิตน้ำผลไม้ในไนจีเรีย เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำผลไม้ของผู้บริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผลไม้ที่เพาะปลูกในไนจีเรียยังมีคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตน้ำผลไม้ในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลไนจีเรียลดภาษีนำเข้าน้ำผลไม้เข้มข้นเหลือร้อยละ 5 ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำผลไม้ในไนจีเรียหันมานำเข้าน้ำผลไม้เข้มข้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำผลไม้จำหน่ายในประเทศทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ของไนจีเรียประเมินว่า ในปี 2550 ไนจีเรียนำเข้าน้ำผลไม้เข้มข้นปริมาณ 30,000 ตัน มูลค่าประมาณ 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 45 ของมูลค่านำเข้าน้ำผลไม้เข้มข้นทั้งหมดของไนจีเรีย) EU (ร้อยละ 30) อเมริกาใต้ (ร้อยละ 10) และอื่นๆ (ร้อยละ 15)

"..ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ของไนจีเรียประเมินว่า ไนจีเรียนำเข้าน้ำผลไม้เข้มข้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1,500 ตัน ในปี 2545 เป็น 30,000 ตัน ในปี 2550 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 60,000 ตัน ในปี 2554.."

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ