สภาฯ กางข้อกฎหมายชนศาลรธน.หนุนเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรธน.วาระ 3

ข่าวการเมือง Wednesday June 6, 2012 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิฑูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาต่อกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาฯ ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ซึ่งจากการตีความในข้อกฎหมายแล้วเห็นว่ารัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่มีผลผูกพันตามคำสั่งดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นเสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ใน 6 ข้อ ดังนี้

1.มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เป็นผลให้รัฐสภาผูกพัน ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดขององค์กรใด ต้องมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผูกพันหรือปฏิบัติตาม

2.มาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันต่อสภา โดยคำวินิจฉัยนั้นต้องทำโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน ต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนของตนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฏตามลักษณะมาตรา 216 จึงไม่เป็นคำวินิจฉัยมีผลผูกพันต่อสภา

3.คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญใช้แบบหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 68 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 6 อันเป็นการใช้อำนาจกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว

4.มาตรา 291 กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตรา 122 กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัด หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไ

5.คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งต่อเลขาธิการสภาให้แจ้งต่อประธานรัฐสภา ให้รอดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่งต่อประธานรัฐสภาหรือรัฐสภา

6.การดำเนินการใดของประธานสภาและรัฐสภาในเรื่องดังกล่าว อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ นายพิฑูร กล่าวา คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นต่อประธานสภาฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.55 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง พร้อมยืนยันว่าได้ตีความตามข้อกฎหมายอย่างสุจริต ไม่เอนเอียงหรือเข้าข้างพรรคการเมืองใด ส่วนประธานจะพิจารณาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ทั้งนี้ คาดว่าประธานฯ จะมีการระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ