(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'57: กกต.นัดหารือผบ.เหล่าทัพ-พรรคการเมืองประเมินสถานการณ์ก่อนลต.ใหม่

ข่าวการเมือง Wednesday April 2, 2014 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีมติให้เชิญ 73 พรรคการเมืองมาหารือกันในวันที่ 22 เมษายน เพื่อกำหนดกรอบวันเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ หลังการหารือกับ ผบ.เหล่าทัพในวันที่ 8 เม.ย.ว่า ที่ต้องมีการหารือกันก็เพื่อให้ช่วยกันประเมินบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้งหรือไม่

"เราต้องการความมั่นใจ เราไม่ต้องการคำตอบที่ว่าให้จัดเลือกตั้งไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะช่วย"นายสมชัย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์

ส่วนที่ต้องหารือฝ่ายความมั่นคงก่อนก็เพราะถ้าหารือพรรคการเมืองก่อนแปลว่าฝ่ายข้าราชการประจำมีอิทธิพลเหนือกว่าฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องไม่เหมาะสม

วานนี้ (1 เม.ย.) ที่ประชุม กกต.มีมติเชิญพรรคการเมืองจำนวน 73 พรรค ที่ กกต.รับรองเป็นพรรคการเมืองมาหารือเพื่อกำหนดกรอบวันเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ ในวันที่ 22 เมษายน เวลา 14.00 น. รวมถึงมีมติเชิญผู้นำเหล่าทัพเข้าหารือประเมินสถานการณ์กำหนดวันที่จะสามารถจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ได้ ในวันที่ 8 เมษายน นี้ เวลา 14.00 น.ประกอบไปด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการกองทัพไทย รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อให้ช่วยกันประเมินบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้งหรือไม่

ส่วนกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (1 เม.ย.) แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอาร์บีโอไอ) ชุดใหม่ ว่า ต้องไปดูว่าใครคือผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง เนื่องจากในมาตรา 181 (1) ระบุว่าการแต่งตั้งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง ซึ่งต้องใช้การลงนามโดยคณะรัฐมนตรีจะกระทำไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน ซึ่งตอนนี้ต้องไปดูว่าใครเป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว

"ในกรณีที่รัฐบาลคิดว่าถูกก็ทำไป ถ้าผิดเดี๋ยวก็มีคนออกมาร้องเรียนเองว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ"นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุยุบสภาและต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่นั้น จะปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง "เท่าที่จำเป็น" แถมยังกำหนด "เงื่อนไข" ในการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนี้ไว้อีก 4 ประการด้วย ดังนี้

(1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(2) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

"ในระดับกระทรวงหากเป็นการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งต้องลงนามแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะกระทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นระดับต่ำกว่านั้นเป็นเรื่องที่อธิบดีสามารถแต่งตั้งได้เอง เช่น ในกรณีโผทหารที่ต้องลงนามแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงต้องผ่านการพิจารณาของ กกต.ก่อน"นายสมชัย กล่าว

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.ขอยืนยันต่อสาธารณชนว่าจะเร่งดำเนินการให้มีการตราพระราชกฤษฏีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และยืนยันว่า กกต.จะใช้อำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีเหตุขัดขวางการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง

"คณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้อำนาจหน้าที่ทางกฏหมายตามกรอบของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ เพื่อวางมาตรการป้องกันมิให้มีเหตุไม่สามารถมีการรับสมัครเลือกตั้งได้"นายภุชงค์ กล่าว

ซึ่งกกต.ได้มีการเชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9 เข้าหารือร่วมกับ กกต.ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เวลา 14.00น. เพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมือง และเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง

สำหรับการหารือร่วมกับพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะมีขึ้นในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งทางกกต.จะวางกรอบการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้กับทุกพรรคการเมืองพิจารณา แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบการเลือกตั้ง 45-60 วัน ตามที่พรรคการเมืองร้องขอ แต่จะพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลักว่าช่วงเวลาใดเหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้งได้ และกกต.จะมีการเสนอกรอบเวลาที่เห็นว่ามีความเหมาะสมให้กับพรรคการเมืองได้พิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่ขอประเมินการชุมนุมของกลุ่มนปช. ในวันที่ 5 เม.ย.ว่าจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่

ส่วนเรื่องการชี้แจงเบิกจ่ายงบของศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) จำนวน 2,309 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในเรื่องของกำลังพลรวมทั้งสิ้น 4 หมื่นกว่านาย เป็นเงิน 970 ล้านบาท โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้เข้ามาชี้แจงพร้อมกับผู้แทนสำนักงบประมาณถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งได้มีการนำงบประมาณจาก สตช.ไปก่อนแล้วจึงมาขอเบิกเงินจากงบกลาง แต่เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน และยังมีข้อสังเกตบางเรื่อง กกต.จึงได้มีการนัดลงมติในวันที่ 8 เม.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ