กลุ่มพันธมิตรปกป้องน้ำโขง ร้องผู้นำ 4 ประเทศค้านสร้างเขื่อนพลังน้ำดอนสะโฮง

ข่าวการเมือง Thursday September 11, 2014 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง(Save the Mekong Coalition) ทำหนังสือถึงผู้นำ 4 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว), สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และไทย แสดงข้อกังวลว่าด้วยกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้รัฐบาล สปป.ลาว เสนอให้นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement:PNPCA)

โดยมีความกังวลว่ากระบวนการ PNPCA ของโครงการดังกล่าวจะไม่สามารถดำเนินการให้เป็นกระบวนการปรึกษาหารืออย่างถูกต้องและมีส่วนร่วมได้จริง อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังถูกกำหนดให้ดำเนินรอยตามเส้นทางอันตรายเฉกเช่นเดียวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีอันจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อแม่น้ำโขงและประชาชนริมฝั่งแม่น้ำ

ที่ผ่านมามีการศึกษามากมายชี้ว่า หากมีการสร้างเขื่องดอนสะโฮงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพันธุ์ปลาและการอพยพของปลาแม่น้ำโขงตลอดทั้งลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง สิ่งนี้จะคุกคามความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของประชาชนหลายล้านคน รวมไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคจากความตึงเครียดที่จะเพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลเนื่องจากความล้มเหลวของความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่ง สปป. ลาว ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อไป

ล่าสุดมีความคืบหน้าของการก่อสร้างที่บริเวณหัวงานเขื่อนปรากฏออกมาในทิศทางที่สอดคล้องกับข้อกังวล โดยรัฐบาลลาวอ้างว่ามีการระงับการก่อสร้างไว้ก่อน แต่บริษัท เมเกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงการยังคงยืนยันว่าการก่อสร้างจะดำเนินต่อไป

ขณะเดียวกันการเสนอให้โครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านั้นจะต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นหนทางในการรับรองการกระทำของ สปป. ลาว ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 แต่จะต้องเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับภูมิภาคอย่างสุจริต ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงแม่น้ำโขง

และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการปรึกษาหารือที่จำกัดทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องไม่รับฟังความคิดเห็นที่มีนัยยะสำคัญ อันรวมไปถึงเสียงจากชุมชนท้องถิ่นในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามด้วย ขณะที่หลายกลุ่มในประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมดังกล่าว รวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทยก็ไม่เคยมีการปรึกษาหารือในการประชุมครั้งใดที่จัดขึ้นในประเทศไทย

"ชาวบ้านที่เข้าร่วมการปรึกษาหารือรายงานว่า แทบจะไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับรายละเอียดและผลกระทบของโครงการเลย การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ฉบับล่าสุดไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่มีการจัดทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และการออกแบบเขื่อนก็ยังไม่สมบูรณ์ ความชอบธรรมของกระบวนการทั้งหมดถูกทำลายลงเมื่อรัฐบาลลาวและไทยตัดสินใจที่จะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี แม้จะปราศจากข้อสรุปเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ไม่มีคำตอบใด ๆ ต่อข้อกังวลของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม รวมถึงไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสี่รัฐบาลในการดำเนินโครงการดังกล่าว" ส่วนหนึ่งของหนังสือฯ ระบุ

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.57 ศาลปกครองสูงสุดของไทยแถลงรับคำร้องของชาวบ้านจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งกล่าวถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดจากเขื่อนไซยะบุรี และเรียกร้องให้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมเพิ่มเติมในประเทศไทย

ขณะที่ข้อเสนอแนะจากทั้งกัมพูชาและเวียดนามคือ ต้องการให้ชะลอการตัดสินใจใดๆ ว่าด้วยเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างจนกว่าจะมีการศึกษาที่สมบูรณ์ของคณะมนตรีของกรรมาธิการแม่น้ำโขง และมีการศึกษาในประเด็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในการประชุมสุดยอดผู้นำแม่น้ำโขงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเวียดนามได้เน้นถึงข้อเสนอแนะที่ระบุไว้ในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2553 ที่เสนอให้มีการเลื่อนการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำโขงสายหลักออกไป 10 ปี ข้อเสนอแนะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในอนาคตจะต้องอยู่บนพื้นฐานการศึกษาที่ครอบคลุมและมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด

และแหล่งทุนต่างๆ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็ได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความชอบธรรมของกระบวนการ PNPCA เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลออสเตรเลียที่ให้ทุนสนับสนุนการทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการไซยะบุรี พร้อมทั้งการทบทวนกระบวนการดังกล่าว รวมถึงรัฐบาลเดนมาร์กด้วย เมื่อรับทราบถึงความบกพร่องของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของเขื่อนไซยะบุรี สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเองก็ได้พยายามทบทวนกระบวนการ PNPCA ในอันที่จะ “พิจารณาขยายระยะเวลาการปรึกษาหารือล่วงหน้า 6 เดือน กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยการตีความกระบวนการ PNPCA ภายใต้บริบทของข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538"[4]

แม้จะมีการเสนอให้ทบทวนมากว่าหนึ่งปี ประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่ออนาคตของแม่น้ำโขงก็ยังถูกเสนอให้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้ และมีแนวโน้มที่จะซ้ำรอยกระบวนการตัดสินใจที่ล้มเหลวของเขื่อนไซยะบุรี

"ด้วยเหตุนี้ เราขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหลายยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที และแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของกระบวนการ PNPCA อันเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือ รวมถึงข้อตกลงของบรรดาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และจัดให้มีเวลามากขึ้นในการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักอย่างสมบูรณ์" ส่วนหนึ่งของหนังสือฯ ระบุ

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐสมาชิกจะต้องยอมรับว่า กระบวนการปรึกษาหารือแบบใดก็ตามที่ชุมชนและสาธารณชนลุ่มแม่น้ำโขงมีส่วนร่วมควรจะรวมเอาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เอาไว้ด้วย กล่าวคือ

  • การปรึกษาหารือจะต้องเกิดขึ้นก่อนจะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ จะต้องไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นและต้องไม่มีลงนามในข้อตกลงใด ๆ ระหว่างที่กระบวนการปรึกษาหารือยังไม่แล้วเสร็จ
  • หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบ ขอบเขต และขนาดของโครงการ รวมถึงการตั้งอยู่ของโครงการในระบบนิเวศที่เป็นอยู่ ต้องถูกจัดทำขึ้น และเผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนกระบวนการปรึกษาหารือ หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ควรได้รับการปรับปรุงให้เท่าทันเหตุการณ์ อิงตามข้อมูลที่ได้รับระหว่างทำการปรึกษาหารือ
  • รัฐสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต้องแสดงอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของตนแต่ตั้งเริ่มกระบวนการ ในอันที่จะรับรองข้อตกลงระหว่างสี่ประเทศในการดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วม
  • ข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และแบบล่าสุดของโครงการ จะต้องมีการเผยแพร่ออกมาก่อนจะมีการปรึกษาหารือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นภาษาของทุกประเทศริมฝั่งแม่น้ำ และเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ต้องถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นกลาง
  • เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติที่จะรับประกันความเหมาะสมของตัวแทนชุมชนในการเข้าร่วมปรึกษาหารือ ทุกชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงต้องได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ ต้องมีการจัดหาทรัพยากรให้อย่างเพียงพอโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง รัฐสมาชิก และ/หรือหุ้นส่วนในการพัฒนา เพื่อช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนต่าง ๆ และสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
  • คำตอบและข้อกังวลของชุมชนและสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องถูกยกขึ้นกล่าวถึงอย่างโปร่งใสและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจในท้ายที่สุดอย่างไร
  • ขั้นตอนและมาตรฐานในการปรึกษาหารือจะต้องเหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อรับประกันว่าข้อกังวลของทุกประเทศได้รับกล่าวถึง บันทึก และพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งอาจทำได้โดยให้มีบุคคลที่สามเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบขั้นตอนนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ