(เพิ่มเติม) "มีชัย" พร้อมตั้ง“บวรศักดิ์"เป็นที่ปรึกษาโดยไม่มีตำแหน่ง ยันไม่มีธงในการร่างรธน.

ข่าวการเมือง Thursday October 8, 2015 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษา กรธ. ว่า ช่วงค่ำวันนี้จะพบกับนายบวรศักดิ์ ดังนั้นจะพูดคุยอีกครั้ง ส่วนที่นายบวรศักดิ์ระบุว่าอาจให้ความช่วยเหลืออย่างไม่เป็นทางการและไม่รับตำแหน่ง ส่วนตัวอาจตั้งนายบวรศักดิ์ให้เป็นที่ปรึกษาโดยไม่มีตำแหน่งก็ได้

ประธาน กรธ.กล่าวว่า ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่จะเขียนนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ว่าจะมีรายละเอียดใดบ้าง และจะกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังไม่ทราบเพราะยังพิจารณาไม่ถึง

นายมีชัย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนองค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และตรวจสอบการคอร์รัปชั่น ได้แก่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มาให้ความเห็นต่อ กรธ. ทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดิน, การทุจริตและการโกงเลือกตั้ง โดยจะขอให้มาแสดงความเห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหา อำนาจ หน้าที่ รวมถึงเครื่องมือที่มีใช้ปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ ส่วนแนวทางที่เป็นมาตรการป้องกันการคอร์รัปชั่นที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียด แต่สิ่งที่ต้องพยายามดำเนินการคือ การสร้างกลไกให้การป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น

นอกจากนี้อาจต้องมีกลไกของการระงับส่วนที่อาจจะก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย แต่รายละเอียดทั้งหมดอยู่ระหว่างการหารือและพูดคุยกันของที่ประชุม กรธ. และยังไม่ได้ข้อยุติ

ส่วนการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมพูดคุยเรื่องโครงสร้างการบริหารนั้น ตนเองยังไม่ทราบว่าที่ประชุมได้หารือเรื่องดังกล่าวและไม่ทราบว่าจะเชิญผู้ใดมาร่วม ดังนั้นสื่อมวลชนต้องไปสอบถามกับผู้ที่พูดประเด็นดังกล่าวเอง

ด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. กล่าวว่า ที่ประชุมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการปราบปรามการทุจริต มาให้ความเห็น โดยวันที่ 13 ต.ค.จะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.), วันที่ 14 ต.ค.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และวันที่ 15 ต.ค.จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งคนเข้าร่วมชี้แจงกับ กรธ. ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญมาในลำดับถัดไป ส่วนพรรคการเมืองเชื่อว่าจะมีการเชิญมาชี้แจงเพราะมีส่วนสร้างความปรองดองให้กับประเทศชาติ แต่ที่ประชุมฯ ยังไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพลเมืองและสิทธิเสรีภาพในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกช่องทาง รวมทั้งนำส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนมาพิจารณาเปรียบเทียบ โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดเฉพาะหลักการสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดจะไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรองต่อไป ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ ให้สำคัญกับการให้ความรู้ประชาชนควบคู่ไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการจัดทำเอกสารเผยแพร่ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือถึงกรอบแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร(ฉบับชั่วคราว) ดังนี้ 1.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่น การกำหนดลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเป็นกลไกป้องกันและตรวจสอบผู้ทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 35(4)

2.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างกลไกต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือตรวจสอบแหล่งรายได้และเงินบริจาคของพรรคการเมือง เพื่อให้กลไกมีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำ ตามมาตรา 35(5)

และ 3.พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปลูกฝังเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม ที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อนและทุกคนเข้าใจได้ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐและสอดคล้องกับสภาพสังคม และสร้างกลไกการลงโทษทางสังคม เพื่อเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้กับทุกภาคส่วน ตามมาตรา 35(6)

สำหรับการพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญจะย้อนหลังไปถึงนักการเมืองก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยพูดไว้ว่า อย่างผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน เมื่อทุจริตก็ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้ ดังนั้นตำแหน่ง ส.ส. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งสูงกว่าตำแหน่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเข้มข้นมากกว่า แต่ในประเด็นนี้ไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ