สปท. เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปปท. เสนอแนวทางปราบทุจริต

ข่าวการเมือง Monday November 16, 2015 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประมนต์ สุธีวงศ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวก่อนเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบว่า ปัญหาการทุจริตถือเป็นเรื่องใหญ่และมีมานาน เปรียบได้กับมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับนานาชาติ และยังส่งผลให้ลดศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย

นายประมนต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปช.ได้ศึกษาและรวบรวมข้อเสนอแนะจากเวทีต่างๆ ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะป้องกันและปราบปรามทุจริต โดยได้ทำเป็นยุทธศาสตร์ 3 ป. คือ ปลูกฝัง ป้องกัน และปราบปราม โดยในส่วนของปลูกฝังนั้นจะเป็นการสร้างค่านิยมให้กับเยาวชน เพื่อให้ต่อต้านการทุจริต โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานและจะต้องทำการป้องกันไปพร้อมกันด้วย ส่วนของการปราบปรามนั้น จะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความรวดเร็วมายิ่งขึ้น

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.อภิปรายว่า ส่วนตัวขอเสนอให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตไม่มีอายุความ และโทษของคดีประเภทนี้จะต้องมีโทษที่หนักและชัดเจน เช่น การระบุให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปี จนถึงตลอดชีวิต อีกทั้งให้มีการยึดทรัพย์หมดตัว อีกทั้งกระบวนการบุติธรรมนั้นจะต้องมีการปฏิรูปให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังจะต้องมีการรณรงค์แคมเปญต่อต้านการทุจริต ให้ได้ผลเหมือนอย่างแคมเปญให้เหล้าเท่ากับแช่งด้วย

ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่า การจะแก้ไขปัญหานี้ได้จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขในปัญหาเรื่องของการเมือง ความสงบสุข และการปรองดอง โดยทั้ง 3 เรื่อง ต้องมีความสมดุลกันและมีความมั่นคง หากเน้นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ปัญหาทั้งหมดก็จะวนมาจุดเดิม

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท.อภิปรายว่า รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผลประโยชน์มหาศาลของรัฐ ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นขอเสนอให้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจโดยถี่ถ้วนและยั่งยืน ขณะที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังคงล้มเหลว เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากนักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นยังแสวงหาผลประโยชน์รีดเอาจากประชาชน ตนเองเห็นว่ากฎหมายมีปัญหา เช่น การกำหนดให้คนให้สินบน และคนรับสินบนเป็นความผิดทั้งหมด ทำให้คนไม่กล้าเปิดเผย

นอกจากนี้ ต้องเปิดช่องทางกฎหมายให้นำหลักฐานมาเปิดเผยได้ การลงโทษเรื่องการทุจริตต้องรุนแรง โทษขั้นต่ำคือจำคุก ไม่รอลงอาญา หากมีการกลั่นแกล้งควรให้มีโทษหนักเป็น 2 เท่า ดังนั้นทางแก้ทุจริตดีที่สุดคือ ต้องทบทวนบทบัญญัติกฎหมายเอาใหม่

ส่วนนางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิก สปท. อภิปรายว่า ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาและสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยยังคงพบว่ามีประชาชนบางส่วนที่ยังคงยอมรับการทุจริตได้ หากโครงการที่ใหญ่และสำคัญสำเร็จ อีกทั้งก็ยังมีคนบางส่วนที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อการคอรัปชั่นด้วย จุดนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งทัศนคติแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปรับปรุง

ทั้งนี้ขอเสนอแนวทางการปฏิรูปเรื่องการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต ด้วยการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการปรับปรุงระบบจริยธรรมของนักการเมือง และหาวิธีว่าทำอย่างไรที่จะให้การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐสภาสามารถใช้ได้จริง

"การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยก็มีความสำคัญ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการร่วมตรวจสอบ ทั้งนี้ อยากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุไว้ว่า นักการเมืองจะต้องไม่เป็นเจ้าของกิจการสื่อ เพื่อป้องกันการใช้สื่อ ปกป้องตนเองในทางที่ผิดด้วย"นางถวิลวดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ